เปิด 10 อาชีพยุคใหม่ตอบโจทย์ประเทศ ประสบความสำเร็จไม่ตกงาน เผยปี 60 คนไทยว่างงาน 4.8 แสนคน ชี้สายงาน“การขาย-ตลาด-บัญชี“ และธุรกิจ “ขนส่ง-โลจิสติกส์ ”ต้องการกำลังคนอีกเพียบ แนะเสริม 4 ทักษะบัณฑิตอยู่รอดทุกอาชีพ ผุด “Data Artist” นักวิเคราะห์ข้อมูล คาดอาชีพมาแรง เชื่อโลกออนไลน์และออฟไลน์อยู่คู่กัน ใช้ Digital Brand Editor ตอบโจทย์โลกทั้งสองได้
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าข้อมูลอาชีพในอนาคต ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างสูงในไทย 10 อันดับ ได้แก่ 1.อาชีพที่เกี่ยวข้องกับความสวย ความงาม ทั้งแพทย์ศัลยกรรม แพทย์ผิวหนัง ทันตแพทย์ เภสัชกร พนักงานขายสินค้าด้านความงาม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับหญิงและชาย 2. อาชีพเขียนโปรแกรมเมอร์ คิดค้นแอพพลิเคชั่นต่างๆ ตามเทรนด์สังคมโลกเปลี่ยนผ่านจากอะนาล็อกสู่ดิจิตอล สอดคล้องกับไทยที่กำลังก้าวสู่อินดัสทรี 4.0 ที่มีดิจิตอลเป็นส่วนสำคัญ 3.อาชีพดูแลด้านสุขภาพ ครอบคลุมตั้งแต่เด็กถึงวัยชรา 4.อาชีพเกี่ยวกับพลังงาน การประหยัดพลังงาน การดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า เด็กเรียนจบวิศวกรรมด้านไฟฟ้าจะมีงานทำแน่นอน 5.อาชีพด้านวิทยาศาสตร์เคมี ชีวเคมี เพราะโลกใช้สารเคมีที่มาจากธรรมชาติ พืช 6.อาชีพที่ชำนาญเกี่ยวกับเครื่องกลขั้นสูง 7.อาชีพเกี่ยวกับการใช้ภาษา 8.อาชีพนักกฎหมายธุรกิจ และนักกฎหมายระหว่างประเทศ 9.อาชีพที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักอนุรักษ์จะมีความสำคัญ และ 10.อาชีพเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง อย่าง สัตวแพทย์ ผู้ผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์เลี้ยง ร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง แฟชั่นสัตว์เลี้ยง และการผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น
รายงานตลาดแรงงานปีหน้าจะเป็นเช่นไร? จากทีดีอาร์ไอ(ข้อมูลเดือนต.ค.60) ระบุว่าประชากรวัยแรงงาน 56.05 ล้านคน ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 37.22 ล้านคน ผู้มีงานทำ 36.65 ล้านคน แรงงานในระบบ 15.34 ล้านคน แบ่งเป็น แรงงาน Semi-Skilled ขึ้นไป 41.8% กลุ่มลูกจ้างเอกชน 14.4 ล้านคน ส่วนแรงงานนอกระบบ 21.31 แสนคน แบ่งเป็น ภาคเกษตรกร 11.04 ล้านคน ทำงานส่วนตัว10.27 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 4.8 แสนคน และผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.83 ล้านคน แบ่งเป็น ทำงานบ้าน 5.72 ล้านคน เรียนหนังสือ 4.44 ล้านคน พระ/เณร 0.33 ล้านคน ผู้ต้องขัง 0.30 ล้านคน อยู่ในสถานพินิจ 0.03 ล้านคน
ผลสำรวจตลาดแรงงาน และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทย โดยแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ระบุถึงสถานการณ์ในปี 2560 ที่ผ่านมาว่า สายงานที่ตลาดแรงงานต้องการสูงสุด อันดับ 1. งานขายและการตลาด อันดับ 2. งานบัญชีและการเงิน อันดับ 3. งานไอที อันดับ 4. งานวิศวกร อันดับ 5. งานบริการลูกค้า ขณะที่ ธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด ได้แก่ 1 กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ บริการเฉพาะกิจ และการท่องเที่ยวและสันทนาการ 2. สินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมเครื่องจักร และยานยนต์ 3. เทคโนโลยี กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4. เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และ 5. สินค้าอุปโภคและบริโภค
4 ทักษะอยู่รอดในอาชีพยุคใหม่
นายเอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าโลกนี้ มีอาชีพเยอะมาก โดยอาชีพหลักๆ มีประมาณ 600 กว่าอาชีพ และตอนนี้ อนาคตต้องยอมรับว่าจะมีเทคโนโลยี หรือที่เรียกกันว่าปัญญาประดิษฐ์ AI หุ่นยนต์เข้ามาทำหน้าที่แทนคน ซึ่งทุกอาชีพสามารถถูกแทนที่ได้หมดหากทำงานเป็นระบบ ซ้ำๆแบบเดิมๆ แต่หากจะทำอาชีพใดก็ตาม แต่มี 4 ทักษะดังต่อไปนี้ เชื่อว่าจะถูกแทนที่ด้วย AI ได้ยาก คือ 1. มีความคิดสร้างสรรค์ AI ถูกโปรแกรมให้ทำตามระบบ ซึ่งสามารถทำงานได้เร็ว ถูกต้อง แม่นยำ แต่AI ไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์แบบที่คนมี
2.การใช้ประสาทสัมผัส อาชีพที่มีการใช้ประสาทสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง เช่น นักออกแบบกลิ่นหอม นักออกแบบเสียง คนเหล่านี้จะมีงานทำตลอด เพราะต่อให้หุ่นยนต์ AI มีข้อมูล ความรู้มากมาย แต่ไม่สามารถออกแบบกลิ่นหอมได้ถูกใจคนจริงๆ หรือออกแบบเพลงได้อย่างเข้าใจลึกซึ้งแบบคนด้วยกันนั้น หรืออาชีพ แพทย์แผนโบราณแบบจีน เป็นการใช้ประสาทสัมผัสหลายอย่างที่ AI ไม่สามารถทำงานแทนได้
3.คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ หรืออาชีพที่ต้องใช้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทุกอาชีพต้องมีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ให้กำลังใจผู้ป่วย นักขายประกัน ขายของต้องเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้า หากทุกอาชีพเข้าใจ รู้จักอารมณ์ของผู้อื่น และถ่ายทอดอารมณ์ได้ก็จะทำให้อยู่ในอาชีพที่ตนเองต้องการได้ เพราะAI เน้นระบบ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ และ
4.ความฉลาดทางสังคม หรือเสน่ห์ของคน หุ่นยนต์ AI ไม่ได้มีเสน่ห์ หรือรู้จักการเข้าสังคม การเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย คุยและรับฟังเรื่องของผู้อื่นได้ เป็นนักฟังที่ดีได้เท่ากับคน
“เด็กควรได้ทำงานในอาชีพที่อยากเป็น เพราะเด็กมีหลากหลาย ใครอยากเป็นอะไรควรได้เป็น แต่เมื่อเป็นแล้ว ทำอาชีพนั้นๆ แล้วพวกเขาควรมี 4 ทักษะเหล่านี้ เพื่อที่จะทำงานและอยู่รอดในยุคดิจิตอล ยุคที่มีข้อมูลข่าวสารมากมาย เช่น นักบัญชีจะไม่ตกงาน หากเป็นนักบัญชีที่เข้าใจการทำบัญชีที่มีการนำความคิดสร้างสรรค์เข้ามาใช้ รู้จักการวางแผนบัญชีที่ทำให้เกิดภาษีน้อยที่สุดโดยที่ถูกกฎหมาย การทำบัญชีที่ทำออกมาแล้วสื่อสารง่ายโดยไม่ขาดฉลาดทางอารมณ์ และทางสังคม เป็นต้น”นายเอกก์ กล่าว
“Data Artist”อาชีพมาแรง
นายเอกก์ กล่าวต่อไปว่าปัจจุบันไม่พูดเรื่องข้อมูลคงไม่ได้ เพราะมีข้อมูลจำนวนมากที่ต้องมีผู้กลั่นกรอง จัดสรร รวบรวมหรือจัดทำระบบ วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ทำให้อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นอีกอาชีพที่เหมาะกับยุคนี้ แต่ในอนาคตเชื่อว่า นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะสามารถถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ AI เพราะนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นการวิเคราะห์ตามระบบ แต่หากนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ได้ทำงานร่วมกับ Data Artist หรือนักศิลปินวิเคราะห์ข้อมูล ที่จะทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมมุมมองใหม่ๆ สร้างข้อมูลโดยใส่ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ ความรู้สึก การเข้าถึงสังคม และการใช้ประสาทสัมผัส หรือเติมSoft Skills เพื่อให้แรงงานสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิตได้
“อนาคตไม่ได้มีเฉพาะออนไลน์เท่านั้น ออฟไลน์ก็ยังคงอยู่ เพราะคนเราต้องใช้ชีวิตทั้งอยู่ในโลกของออนไลน์ และโลกออฟไลน์ หรือการใช้ชีวิตประจำวัน ทุกคนต้องเป็นผู้พัฒนาสินค้า แบรนด์ให้มีคุณค่าได้ ในโลกออนไลน์และออฟไลน์หรือโลกดิจิตอล โดยจะต้องทำหน้าที่ Digital Brand Editorได้ ซึ่งการจะทำให้แบรนด์เกิดคุณค่าได้ไม่ใช่ใส่เฉพาะลักษณะพิเศษ แต่ต้องเติมอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในแบรนด์เหล่านั้นด้วย เพราะคนใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในการตัดสินใจ การสร้างแบรนด์ต่างๆ เพื่อการแข่งขัน ต้องพึ่งพาอารมณ์ อาทิ สินค้าชนิดนี้ สวยหรือไม่สวยขึ้นอยู่กับอารมณ์ล้วนๆ คนยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อของสวยๆ และพยายามหาเหตุผลมารองรับ ทั้งที่เป็นเรื่องของอารมณ์” นายเอกก์ กล่าว
ขอขอบคุณที่มา กรุงเทพธุรกิจ