การประชุมเชิงปฎิบัติการ เรื่อง “เจตนารมณ์และแนวคิดการนำร่างพระราชบัญัญัติอุทยานแห่งชาติฯ พ.ศ. … สู่การปฎิบัติ

วันที่ 27 มี.ค.2562 นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมเชิงปฎิบัติการ เรื่อง “เจตนารมณ์และแนวคิดการนำร่างพระราชบัญัญัติอุทยานแห่งชาติฯ พ.ศ. … สู่การปฎิบัติ ร่วมด้วย นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ พร้อมทั้งผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 1- 16 และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์สาขาทุกสาขา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าวนอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าศูนย์ปฎิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกศูนย์ จำนวน 317 คน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมป่าไม้

นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับ คณะกรรมาธิการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมสภาการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข และยกร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …โดยได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 และต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการประชุม ครั้งที่ 89/2561 เป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันพุธที่ 26 ธันวาคม 2561 ได้ลงมติรับหลักการแห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …(รับหลักการวาระที่ 1) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 7 มีนาคม 2562 ขั้นตอนต่อไปคณะรัฐมนตรี จะพิจารณาเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมต่อไป

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ พิจารณาแล้ว เนื่องจากการร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาบทบัญญัติและปรับแก้ไขในเรื่องเจตนารมณ์หลายส่วน และยังมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจากเดิมพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ที่มีเพียง 30 มาตรา มาเป็นร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …ที่มีถึง 65 มาตรา จึงมีความจำเป็นในการจัดประชุมเชิงปฎิบัติการครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกันของทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในกรมอุทยานแห่งชาติฯ และเพื่อให้เข้าถึงเจตนารมณ์ แนวคิด และความจำเป็น ในสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการนำร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อสังคม ตรงตามเจตนารมณ์ของการตรากฎหมายดังกล่าว และยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการนำร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …ไปชี้แจงประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำไปบังคับใช้ด้วย

สำหรับการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นในวันที่ 27 มีนาคม 2562 แบ่งเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยในช่วงเช้า มีบรรยายทั้งสิ้น 3 หัวข้อ ประกอบด้วย หัวข้อ “5 ปี ของการพัฒนากฎหมายป่าไม้กับอนาคตอุทยานแห่งชาติ ” โดย นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยสำนักอุทยานแห่งชาติ / หัวข้อ “สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …” โดยนายกฤติน หลิมตระกูล ผู้อำนวยการกองนิติการ และนายชลธร ชำนาญคิด ผู้อำนายการส่วนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ / หัวข้อ “แนวคิดในการนำร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติมาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติยุค 4.0” โดย นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ และบรรยายพิเศษจาก นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ และในช่วงบ่ายซึ่งช่วงสำคัญของการประชุมเป็นการอภิปราย เรื่อง “ประชาชนได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับใหม่อย่างไร” ดำเนินการโดย นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ โดยมีนายจิตรพรต พัฒนสิน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร สมาชิกสภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินและชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และนายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เข้าร่วมการอภิปรายด้วย

ทั้งนี้ก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้นทาง ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้นำผลิตภัณฑ์ถุงผ้าจากการ Recycle ขวดพลาสติก จำนวน 5,000 ใบ มามอบให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” กิจกรรม : การลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

ซึ่งนายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า “กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้กำหนดแนวทางการใช้งานถุงผ้าดังกล่าวไว้แล้ว โดยจะมอบถุงผ้าให้อุทยานแห่งชาติ จำนวน 154 แห่ง นำไปให้นักท่องเที่ยวยืม – คืน ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และกำหนดให้อุทยานแห่งชาติเก็บเงินมัดจำค่าถุงผ้า และคืนเงินให้กับนักท่องเที่ยวเมื่อนำถุงผ้ามาคืน ขณะที่ถุงผ้าดังกล่าวเมื่อได้รับคืนแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดถุงผ้าทุกครั้ง ก่อนนำมาให้นักท่องเที่ยวยืมในครั้งต่อไป พร้อมทั้งมีการติดตามการใช้งานเพื่อประเมินผลเป็นประจำทุกสิ้นเดือนด้วย ซึ่งถุงผ้าที่ได้รับการรับในครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนให้การดำเนินกิจกรรมรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้วภายในอุทยานแห่งชาติลดลงได้ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ไม่น้อยกว่า 3 ล้านใบ”