เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ณ ห้องแกรนด์ไดมอน บอลรูม ศูนย์การประชุมเมืองทองธานี แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และ Dr. Susan B. Frampton, President, Planetree international, USA ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทางด้านวิชาการ ในการส่งเสริมและกระตุ้นให้สถานพยาบาลนำแนวคิด “People-centered care” และแนวคิดจิตวิญญาณในการทำงาน เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา เน้นคนทำงาน และเน้นสิ่งแวดล้อมในการเยียวยา ซึ่งสอดรับกับมาตรฐานสากล ในการพัฒนาและรับรองสถานพยาบาล รวมทั้งสนับสนุนองค์ความรู้ ในการดูแลผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางอย่างเป็นระบบในระดับสากล
ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติยศ นพ. สงคราม ทรัพย์เจริญ, พล.ต.ต นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงศ์, นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ประธานคณะกรรมการสถาบัน, นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล, ดร. ดวงสมร บุญผดุง, นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, นพ.สมพร คำผง ผู้แทนองค์กร Planetree ภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้ด้วย
ด้าน พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กล่าวว่า สรพ.ได้มีการนำแนวคิดเรื่องจิตวิญญาณในการทำงาน มาบูรณาการกับการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ภายใต้โครงการ Spiritual Healthcare Appreciation หรือ SHA เพื่อพัฒนาระบบบริการและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามมาตรฐานโรงพยาบาล ปัจจุบันมีการบรูณาการเรื่องมิติจิตวิญญาณกับมาตรฐาน HA ในการรับรองกระบวนการคุณภาพสถานพยาบาล มีการพัฒนา Program specific certification โดยมีการพัฒนามาตรฐาน SHA เพื่อเป็นการ certificate สถานพยาบาลร่วมกับ มาตรฐานเฉพาะโรคเฉพาะระบบ เพื่อให้การพัฒนาดังกล่าวของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีสากล
ทั้งนี้ ดร. ซูซาน บี แฟรมตัน กล่าวแสดงความยินดีที่ได้ร่วมมือกันเพื่อผลักดัน เพื่อสร้างประสบการณ์การดูแลสุขภาพตามแนวคิด People Centered Care โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิด Better Care, Better Health, Better Culture และ Lower Costs ในระบบสาธารณสุขของโลกด้วย
สำหรับ Planetree international เป็นสถาบันชั้นนำระดับสากลที่มีการดำเนินงานร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 30 ประเทศและประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนา ส่งเสริม กระตุ้นให้สถานพยาบาลทุกแห่งได้เกิดการพัฒนาบุคลากรให้มีมิติจิตวิญญาณในการทำงาน ในการดูแลผู้ป่วยต่อไป ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้การนำแนวคิดเรื่องดังกล่าวเกิดการเรียนรู้ในวงกว้างและเป็นสากล การนำหลักคิดแนวทางแบบไทย Spiritual Healthcare เชื่อมประสานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้กับ แนวทางสากลเรื่อง People Centred Care เป็นการขับเคลื่อนเสริมพลังในการขับเคลื่อน เพื่อบุคลากรมีพลังในการทำงานและดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์อย่างภาคภูมิใจ