การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ ๑๑ แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์

เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๑ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ ๑๑ แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ณ  โรงแรมแชงกรี-ลา สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และ ตุน มูซา ฮิตัม ผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย เข้าร่วมการประชุม พร้อมด้วยบุคคลสำคัญอื่น ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของสามประเทศ โดยรัฐมนตรี IMT-GT ของไทย (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม) เลขาธิการอาเซียน (ดาโต๊ะ ลิม จ๊อก หอย) รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (นายสตีเฟน พี กร๊อฟ) ร่วมด้วยนายสุรงค์ บูลกุล ประธานสภาธุรกิจ IMT-GT การประชุมฯ มีสาระสำคัญดังนี้

  • ผู้นำ IMT-GT ได้รับทราบความสำเร็จของแผนงานความร่วมมือ IMT-GT ในโอกาสครบรอบ ๒๕ ปี ที่แผนงานมีบทบาทสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนในพื้นที่ภายใต้แผนงานความร่วมมือ โดยรัฐมนตรี IMT-GT ของไทยได้รายงานถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก IMT-GT ในระหว่างปี ๒๕๕๕-๒๕๕๙ ที่มีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๔.๘ ต่อปี โดยมีรายได้ต่อหัวประชากรของพื้นที่ IMT-GT เพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานและภาวะความยากจนลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้นำ IMT-GT ได้เน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน
    จำนวน ๓๘ โครงการของ ๓ ประเทศ (มูลค่ารวม ๔๗,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจใน IMT-GT โดยไทยมีโครงการที่มีความคืบหน้าที่สำคัญ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระบบไฟฟ้า หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และรถไฟทางคู่สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ที่จะเริ่มก่อสร้างโดยลำดับ
  • มุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ปี ๒๕๗๙ ซึ่งให้ความสำคัญกับการบูรณาการ
    การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม
    การพัฒนาที่ยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วย การพัฒนาเมือง
    สีเขียว การพัฒนาภายใต้กรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน การพัฒนาเส้นทางและวงจรท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ปราศจากความเหลื่อมล้ำ และแข่งขันได้ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวปี ๒๕๖๐-๒๕๗๙ และแผนปฏิบัติการ ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔ การเตรียมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเรือสำราญใน IMT-GT ที่เชื่อมโยงสู่นานาชาติและเน้นความสำคัญของภาคเอกชนในการดำเนินงาน การพัฒนาภาคเกษตรเพื่อสร้างความยั่งยืน ปราศจากความเหลื่อมล้ำ และใช้นวัตกรรม การเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสามประเทศเรื่องการขยายเส้นทางบิน ซึ่งลงนามไว้ในปี ๒๕๓๘ เพื่อส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค การผลักดันให้ใช้ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจดิจิทัลมาช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนใน IMT-GT การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อสร้างระบบห่วงโซ่คุณค่าเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ในอนุภูมิภาค และการเป็นเจ้าภาพงานแสดงสินค้า BIMP-EAGA and IMT-GT ครั้งที่ ๔ ที่จังหวัดสงขลา ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑
  • ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีไทยเสนอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย
    ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อแนวทางการขับเคลื่อนแผนงาน IMT-GT ๔ ประเด็นดังนี้

    • การพัฒนาความเชื่อมโยงทางกายภาพบนมิติความริเริ่มใหม่ ๆ โดยทั้งสามประเทศควรพิจารณาปัจจัยหรือกลยุทธ์ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก (Game Changer)
      ต่อการพัฒนาพื้นที่ IMT-GT อาทิ นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน เป็นต้น ฝ่ายไทยจึงเสนอแนวระเบียงเศรษฐกิจที่หก โดยให้ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส มาเชื่อมโยงกับรัฐเประและรัฐกลันตัน ซึ่งขณะนี้ไทยได้พัฒนาเมืองต้นแบบ หนองจิก-เบตง-สุไหงโกลก เชื่อมสู่มาเลเซียผ่านพื้นที่การพัฒนาด้านตะวันออก และเชื่อมโยงด้านอันดามันกับมาเลเซียผ่านพื้นที่การพัฒนาตอนเหนือ ไปสู่อินโดนีเซีย
    • ความร่วมมือในการก้าวเข้าสู่พัฒนาการทางเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ได้เน้นย้ำทุกสาขาความร่วมมือควรใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ สาขาการค้าการลงทุนจะต้องนำระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกการทำการค้าและการลงทุนตลอดจนขยายโอกาสทางธุรกิจ สาขาเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรจะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาไปสู่การเกษตรและแปรรูปเกษตรที่ทันสมัยและยั่งยืน พร้อมทั้งจะต้องเตรียมรับมือกับผลของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่จะมีต่อการจ้างงานหลายด้านที่อาจลดลง เป็นต้น
    • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาและการพัฒนา IMT-GT รุ่นใหม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง โดยสนับสนุนให้มีการประสานงานระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคส่วนอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ และยกระดับสภาธุรกิจ IMT-GT ให้สามารถประสานภาคธุรกิจทุกระดับ เสริมศักยภาพผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งรับฟังข้อเสนอจากผู้มีส่วนได้เสียเพื่อความเป็นธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
    • กำหนดระยะเวลาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน โดยไทยได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในแผนงาน IMT-GT ขึ้นอย่างเป็นทางการภายในปี ๒๕๖๒ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีตอบรับข้อเสนอของผู้นำอื่น ๆ เลขาธิการอาเซียนและธนาคารพัฒนาเอเชีย อาทิ ความต่อเนื่องของการพัฒนาเมืองสีเขียวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและเมืองน่าอยู่ต่อไป และการใช้ประโยชน์จากการบูรณาการการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจที่หกกับแผนการพัฒนาทางรถไฟสายชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)