วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2565 ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญามีต่อปวงพสกนิกร ตลอดระยะเวลาที่ใต้ฝ่าพระบาท อำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืน ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย ทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ เกิดความเชื่อมั่นว่าความงดงามของผ้าไทยจะคงอยู่คู่กับสังคมไทย และได้พระราชทานพระอนุญาตให้ กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และได้เริ่มต้นกิจกรรมการประกวด
อีกทั้งทรงพระราชทานลายผ้าบาติก 3 ลาย “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” “ท้องทะเลไทย” และ “ป่าแดนใต้” ที่พระองค์ได้แรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จไปทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรม จากภูมิปัญญาพื้นถิ่นในภาคใต้หลายครั้ง ทรงพบเห็นวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ ที่มีเอกลักษณ์ แนวพระดำริทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนผ้าลายบาติกพระราชทานนี้ เพื่อพระราชทานให้กับช่างฝีมือบาติก เป็นของขวัญตอบแทนมิตรภาพ และความจริงใจ ที่ประชาชนชาวภาคใต้มอบให้กับพระองค์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่า และมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ด้วย
ถือได้ว่าเป็นเรื่องราวและความหมายชวนประทับใจ เป็นการยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืนความงดงามของอัตลักษณ์ไทย ส่งผ่านไปสู่พี่น้องประชาชน สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก เป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป
และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2565 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนิน ณ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ทอดพระเนตรกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของโครงการศิลปาชีพ และในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 90 พรรษา เพื่อสร้างการรับรู้ประวัติศาสตร์ สู่คนรุ่นหลัง และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป โดยมีสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในพื้นที่จังหวัดนครพนม และราษฎรเฝ้าฯ รับเสด็จ
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นของขวัญให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่มทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศทรงออกแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง แสดงถึงความตั้งพระทัยมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน
กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน โดยกำหนดเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อน ให้เห็นถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ได้มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ขับเคลื่อนแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และ “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ซึ่งช่วยชุบชีวิตของผู้ประกอบการทอผ้าทั่วประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม
จากนั้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะลักชัวรี โฮเต็ล แบงค็อก เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พร้อมมอบแนวทางขับเคลื่อน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ซึ่งต้องเป็น “ทูตการสวมใส่ผ้าไทย” และเป็นผู้นำในการสวมใส่ผ้าไทย รวมถึงเชิญชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย เพื่อร่วมกันสร้างความภาคภูมิใจ และสร้างประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานได้เรียนรู้และใส่ผ้าไทยให้สนุกในทุกวัน
ในการนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี รับสนองพระราชดำริได้จัดพิธีมอบแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมเมืองคนดี ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นางอุรสา จินโต ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ภริยา) และ หัวหน้าส่วนราชการ / นายอำเภอและภริยา / พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี / ผู้อำนวยการกลุ่มงาน เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และผู้ประกอบการผ้าไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมเป็นเกียรติในพิธีมอบแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ณ ห้องประชุมเมืองคนดี ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ภริยา) เป็นตัวแทนรับมอบให้แก่ นายอำเภอและภริยา ทั้ง 19 อำเภอจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งผู้ประกอบการผ้าไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 27 กลุ่ม เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาลวดลายผ้าไทยให้เกิดความหลากหลายและร่วมสมัย ก้าวสู่สากล ผู้เข้าร่วมพิธีต่างเป็นเกียรติและภาคภูมิใจ ที่ได้ร่วมพิธีมอบแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” นอกจากนั้นภายในบริเวณพิธีฯ ยังได้มีการแสดงนิทรรศการลายผ้าและจำหน่ายผ้าไทย ภาพถ่ายประชาสัมพันธ์ในโครงการผ้าไทยใส่สนุกให้ผู้ร่วมงานได้รับชม
*** ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามที่สาธารณะสุขได้กำหนดอย่างเคร่งครัด