พช.ยะลา จัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”

วันที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 09.30 น. ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนยะลา นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย ผศ.ดร.ทิพยวรรณ นิลทยา ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดยะลา เป็นประธานในพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เพื่อนำไปใช้เป็นต้นแบบในการทอผ้า ผลิตผ้า และผลิตภัณฑ์ ในแต่ละท้องถิ่น โดยประธานได้เปิดกรวยถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

จากนั้น นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ประธานในพิธีได้มอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผศ.ดร.ทิพยวรรณ นิลทยา ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดยะลา มอบเอกสารอ้างอิงสำหรับผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยมีนายอำเภอทั้ง 8 อำเภอพร้อมภริยา เข้ารับมอบแบบลายผ้าเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ เพื่อนำไปมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม นำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้า ตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดยะลาต่อไป

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ พื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานแก่ราษฎรอันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทย ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค โดยแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง ได้แก่

“ลาย S ที่ท้องผ้า” หมายถึง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น ต่อมา

“ลายบิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S” หมายถึง ความจงรักภักดีที่ปวงชนชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์

“ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ” หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย

“ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า” หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข

“ลายต้นสนที่เชิงผ้า” หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ ซึ่งลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่เป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ

“ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า” หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน

ในการนี้ นางสาวรัตนา ไมสัน ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน รักษาราชกาแทนพัฒนาการจังหวัดยะลา พร้อมด้วยนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการกลุ่มงานฯ พัฒนาการอำเภอ ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าเครื่องแต่งกาย และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดยะลาเข้าร่วมพิธีและในงานมีการจำหน่ายผ้าบาติกจำนวน 3 ร้าน ได้แก่

1. กลุ่มผ้าอาดือนันบาติก

2. กลุ่มอัสมาบาติก

3. กลุ่มครูผีเสื้อบาติก/มัดย้อม

ยอดจำหน่าย 8,300 บาท

@ใต้สุดสยามเมืองงามชายแดน

ทีมประชาสัมพันธ์ สพจ.ยะลา

https://yala.cdd.go.th/2022/03/10/166