(10 มีนาคม 2565 ) ณ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี กรมการแพทย์ เนื่องในงานวันสถาปนากรมการแพทย์ ครบรอบ 80 ปี ที่กรมการแพทย์ได้ดำเนินการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวไทย สมดังปณิธาน “ทำดีที่สุดเพื่อทุกชีวิต”:
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อร่วมดำเนินการวิจัยพัฒนาและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล สร้างความคุ้มค่าต่อคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศ
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ มีนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาและขยายผลนวัตกรรมทางด้านสุขภาพและการแพทย์ สนับสนุนการพึ่งพาตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุข และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกรมการแพทย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ สวทช. ได้ตกลงร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ขึ้น เพื่อ
1. ดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมากับผลิตภัณฑ์ที่ทางกรมการแพทย์มีการใช้งานในปัจจุบัน
2. ขยายผลและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล สร้างความคุ้มค่าต่อคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศ
3. ศึกษาความเป็นไปได้และผลักดันการนำผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมาไปจำหน่ายเชิงพาณิชย์
4. สนับสนุนเชิงนโยบายและทรัพยากรที่จำเป็นในการดำเนินกิจกรรมภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้
ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ข้อมูลว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมและศักยภาพในการเติบโต กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมการแพทย์ และ สวทช. มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะสนับสนุนงานวิจัย พัฒนา และสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ นำไปสู่การคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของไทย ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุข ลดการนำเข้านวัตกรรมทางการแพทย์ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้ง 3 หน่วยงานจึงร่วมขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้และทรัพยากรระหว่างหน่วยงานในหลายมิติ
อาทิ การส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์โดยนำฐานข้อมูลสิทธิบัตรมาวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีก่อนเริ่มการวิจัย การส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรแบบเร่งด่วนให้กับนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม การให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านทรัพย์สินทางปัญญาผ่านศูนย์ให้คำปรึกษา ด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IPAC) ตลอดห่วงโซ่มูลค่าทรัพย์สินทางปัญญารวมทั้งการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ”
นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ของไทย สร้างผลงานสิทธิบัตรที่มีมูลค่า ตอบโจทย์ ความต้องการของตลาด พร้อมสร้างรายได้เข้าประเทศผ่านการซื้อ-ขายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เข้มแข็ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข”
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ให้ข้อมูลว่า สวทช. ได้ร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ กับกรมการแพทย์ เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล สร้างความคุ้มค่าต่อคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศ สวทช.ได้ดำเนินงานผ่านการทำงานของศูนย์แห่งชาติทั้ง 5 ศูนย์ คือ
1)ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) มุ่งพัฒนางานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ
2) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) พัฒนางานด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวัสดุต่าง ๆ
3) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มุ่งพัฒนางานด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
4) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) มุ่งพัฒนางานด้านนาโนเทคโนโลยี
5) ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของประเทศ
นอกจากนี้ในด้านการแพทย์ ยังมีศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (Amed) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมสุขภาพ อุปกรณ์ประมวลผลสัญญาณชีวการแพทย์ เทคโนโลยีฟื้นฟูสมรรถภาพ เทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึง และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก โดยทาง Amed มุ่งเน้นการพัฒนาเครื่องมือแพทย์และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีบริการด้านการวินิจฉัย การรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ (Diagnosis & Treatment) ร่วมถึงการพัฒนาอุปกรณ์และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเพื่อการป้องกัน สร้างเสริมสุขภาวะ และระบบบริการสุขภาพ (Prevention & Well-being) และการพัฒนาอุปกรณ์และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสำหรับการสร้างความเสมอภาคทางสุขภาพ (Health equality)
ผู้อำนวยการ สวทช. ให้ข้อมูลเรื่อง บทบาทของ สวทช. ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือตลอดระยะเวลา 5 ปีนี้ สวทช. จะร่วมกับกรมการแพทย์ในการดำเนินการวิจัย พัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ อาทิ โครงการกระดูกเทียมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระดูก โครงการ 3D Print ในด้านการแพทย์ และขดลวดค้ำยันหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน เช่นการสังเคราะห์โปรตีน EGF เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางและยารักษาโรค รวมถึงการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการวินิจฉัยโรค เป็นต้น
นอกจากนี้ สวทช.จะร่วมสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานที่จำเป็น การบริหารจัดการโครงการวิจัย และทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการใช้กลไกบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อสนับสนุนให้นวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนา ให้สามารถเข้าสู่ตลาดสร้างผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม อย่างยั่งยืนต่อไป