กรมอนามัย ร่วมกับเครือข่าย แก้ปัญหาขยะติดเชื้อล้น แนะทิ้งถูกวิธี ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เทศบาลนครนนทบุรี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขยะติดเชื้อล้น แนะทิ้งให้ถูกวิธีตามหลักสุขาภิบาล

วันที่ 9 มีนาคม 2565 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังแถลงข่าว ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และเทศบาลนครนนทบุรี บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาประเด็น “การบริหารจัดการและแนวปฏิบัติ ในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย อาคาร 1 ชั้น 2 กรมอนามัย ว่า

อธิบดีกรมอนามัย (นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งจากศูนย์แยกกักในชุมชน และการแยกกักที่บ้าน เนื่องจากทุกครอบครัวสามารถซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อนำมาใช้ตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเองได้ จึงก่อให้เกิดมูลฝอยทั่วไป และมูลฝอยติดเชื้อจากครัวเรือนมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ เกิดขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน 2565 เฉลี่ยประมาณ 789 ตัน/วัน ขณะที่ศักยภาพระบบการกำจัดรวมมูลฝอยติดเชื้อ ในภาพรวมของประเทศ สามารถกำจัดได้เพียง 342.3 ตัน/วันเท่านั้น จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ปัญหาการสะสมตกค้าง ณ แหล่งกำเนิด กระบวนการเก็บขนที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุม

นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กรมอนามัยได้ประสานความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เทศบาลนครนนทบุรี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการที่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทำให้สามารถจัดหาสถานที่ กำจัดเพิ่มเติม จำนวน 11 แห่ง มีศักยภาพการกำจัด 1,189 ตันต่อวัน เมื่อรวมกับระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเดิม ทำให้ภาพรวมของประเทศมีศักยภาพของระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1,532 ตันต่อวัน เพียงพอ และสามารถรองรับปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้ง การบริหารจัดการ มูลฝอยติดเชื้อที่กรมอนามัยจัดทำขึ้น เป็นการบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญตั้งแต่ กระบวนการคัดแยก เก็บขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องให้ความร่วมมือในการจัดการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่รับผิดชอบ

“ทั้งนี้ มูลฝอยที่เกิดขึ้นในชุมชนที่เกิดจากการแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ให้ทำการคัดแยกขยะ เพื่อเป็นการลดปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่ต้องกำจัด โดยคัดแยกเป็น 2 ส่วน คือ

1) มูลฝอยที่ไม่ได้ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือ สารคัดหลั่ง เช่น เอกสารกำกับชุดตรวจ และกล่องบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ขยะประเภทนี้ให้เก็บรวบรวมทิ้งถังขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิด

2) มูลฝอยที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ภาชนะใส่อาหารพร้อมบริโภค (แบบใช้ครั้งเดียว) และชุดตรวจ ATK (ตลับหรือแผ่นทดสอบ หลอดใส่น้ำยา ฝาหลอดหยด ไม้ Swap) เป็นต้น ถือเป็นมูลฝอยที่มีความเสี่ยงสูง ให้แยกจัดการเป็นมูลฝอยติดเชื้อ เพราะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อโรคได้ สำหรับแนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่

1) กรณีในพื้นที่หรือชุมชน มีระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมแล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ ก่อนนำมูลฝอยติดเชื้อไปกำจัดอย่างถูกต้อง

2) กรณีในพื้นที่ที่ระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงได้ ให้มีการทำลายเชื้อก่อนนำไปกำจัดเป็นมูลฝอยทั่วไป จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่อประชาชนทั่วไป รวมถึงเกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานเก็บขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

กรมอนามัย/ 9 มีนาคม 2565