“โรคอ้วน” คือประตู สู่โรคร้าย 4 มีนาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันอ้วนโลก” โดย World Obesity Federation เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่าความอ้วนเป็น “โรค” และมีความมุ่งหวังที่จะ “หยุดการเพิ่มขึ้น” ของวิกฤตโรคอ้วน (Obesity Crisis) ทั่วโลกให้ได้ภายในปี 2025 นี้
เพราะโรคอ้วน เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องลงมือแก้ไข อุบัติการณ์โรคอ้วนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า ร้อยละ 30 หรือมีผู้ป่วยด้วยโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด นำมาซึ่งความเสี่ยงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง สิ่งที่ตามมา คือ ตัวเลขของมูลค่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นตามไปด้วย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยต้องหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค การใช้ชีวิตวิถีใหม่ สร้างค่านิยมใหม่ให้สังคมไทยห่างไกลจากความอ้วน
ด้วยภารกิจ “ป้องกัน” ก่อน “รักษา” เป็นสิ่งที่ สสส. ยึดมั่น และเป็นแนวทางในการทำงานขับเคลื่อนให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 4 ด้าน กาย จิต ปัญญา สังคม ซึ่งหนึ่งในภารกิจขับเคลื่อนงานสุขภาวะ 4 ด้าน ก็คือ สุขภาวะทางกาย ปัญหาโรคอ้วนนั้นเราทราบกันดีว่าเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน ก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนา เรื่อง วันอ้วนโลก: ทุกคนต้องลงมือแก้ไข เนื่องในวันอ้วนโลก ซึ่งปีนี้ใช้แคมเปญว่า “World Obesity Day: Everybody Needs to Act” โดยความร่วมมือของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ กรรมการบริหารสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวต่อว่า ภาวะอ้วนสำหรับผู้ใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นปัญหาสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป คนออกกำลังกายน้อยลง เลือกกินอาหารง่าย ๆ ประหยัดเวลา แต่มีประโยชน์ต่อร่างกายน้อย ทำให้กราฟจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนพุ่งสูงขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19
“เรื่องอาหารการกินเป็นปัจจัยสำคัญ การแก้ไขปัญหาต้องควบคุมการบริโภคอาหารให้เหมาะสม ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เกินไป ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง มีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น ส่วนเด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงการปรุงแต่งรสชาติ ดื่มน้ำสะอาด นมจืด ไม่สอนให้กินน้ำอัดลม และฝึกกินผักให้เป็นนิสัย โดยเริ่มจากครอบครัวต่อเนื่องไปยังโรงเรียน สร้างค่านิยมการกินอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ก็จะช่วยให้ทุกคนห่างไกลจากโรคอ้วนได้” ศ.พญ.ลัดดา กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โรคที่เกิดขึ้นกับคนไทย 2 ใน 3 ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกินหวานที่ล้นเกิน โดยบริโภคน้ำตาลมากกว่า 6 ช้อนชาต่อวัน เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) ซึ่งผลสำรวจพบว่า ร้ายแรงกว่าโควิด-19 ถึง 5 เท่า เพราะพบคนไทยเสียชีวิตจากโรค NCDs เฉลี่ยวันละ 1,000 คนต่อวัน
“เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ลง สสส.และภาคีเครือข่าย สนับสนุนให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วนและหลากหลาย เน้นการทานผักผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม ใช้สูตรการปรุงอาหารเพื่อสุขภาพ 6:6:1 ในการปรุงอาหาร มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยงอย่างเหล้าและบุหรี่ โรคอ้วนเป็นโรคที่ป้องกันได้ เพียงแค่ปรับการกินและการใช้ชีวิตใหม่” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
“โรคอ้วน” คือประตู สู่โรคร้าย วันนี้เรามีเทคนิคง่าย ๆ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ด้วยเทคนิค 4 เพิ่ม 3 ลด ช่วยปลดตัวเองออกจากความอ้วนมาฝาก
4 เพิ่ม
– เพิ่มการกินอาหารตามรหัสสุขภาพ 2:1:1 เเละผัก ผลไม้ในทุกมื้ออาหาร
– เพิ่มการดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
– เพิ่มกิจกรรมทางกายให้มากขึ้น
– เพิ่มชั่วโมงการนอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ
3 ลด
– ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และอาหารที่มีโซเดียมสูง
– ลดปริมาณอาหารที่กินในแต่ละมื้อให้เหมาะสม
– ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สสส. และภาคีเครือข่ายสุขภาพ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและรณรงค์ให้คนไทยหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายที่มากขึ้น ด้วยการสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ผ่านสื่อและกิจกรรมต่าง ๆ สร้างภาพจำใหม่ให้สังคมว่า “โรคอ้วน เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องราวของใครคนใดคนหนึ่ง” รวมถึงการผลักดันนโยบายสุขภาพที่ครอบคลุมทุกมิติให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย
ทุกคนห่างไกลจากโรคอ้วนได้ เพียงแค่ปรับพฤติกรรม ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยาก เเต่ไม่ได้หมายความว่า “ทำไม่ได้” เริ่มได้ที่ตัวเราเอง ใช้เทคนิคง่าย ๆ มาร่วมกันบ๊าย บายจากความอ้วน ด้วยการลดอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ในทุกมื้ออาหารให้มากขึ้น อย่างน้อยวันละ 400 กรัม หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพิ่มกิจกรรมทางกาย รวมทั้งลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ห่างไกลโรคร้ายต่าง ๆ สร้างวิถีชีวิตที่นำไปสู่สุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน