พาณิชย์แนะผู้ส่งออกประกันความเสี่ยงในตลาดอาร์เจนตินาและตุรกี หลีกเลี่ยงผลกระทบค่าเงินผันผวน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษา “การเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้า 87 ประเทศ และผลกระทบต่อการส่งออกของไทย” โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ ความผันผวนของค่าเงิน และการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน ที่ส่งผ่าน,มายังอุปสงค์และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า อันเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไทย

ผอ. สนค. ชี้แจงว่า การศึกษาเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจะระบุประเทศคู่ค้าที่มีความอ่อนไหวด้านค่าเงิน และต้องการให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกที่ค้าขายกับประเทศเหล่านี้ตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินและความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการค้า เพื่อรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น รวมทั้งอาจมองหาตลาดใหม่เผื่อไว้ด้วย

ความผันผวนของค่าเงิน เป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศที่ค่าเงินมีความผันผวนสูง ส่วนใหญ่เกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์ที่สำคัญ เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ ความขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศอันอาจนำมาสู่การถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศมหาอำนาจ เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤติหรือไม่มีเสถียรภาพอย่างรุนแรง ซึ่งการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจจากสถานการณ์เหล่านี้ใช้ระยะเวลานานกว่า 1 ปี และส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าที่ส่งออกไปประเทศเหล่านี้ เพราะทำให้มีต้นทุนในการบริหารจัดการสินค้าสูง ราคาสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกจากประเทศต่างๆ มักหลีกเลี่ยงทำการค้ากับประเทศที่ค่าเงินผันผวนสูง

การอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน กรณีที่ค่าเงินอ่อนค่าสูง ส่วนใหญ่เป็นความต่อเนื่องจากปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินผันผวนสูง ทำให้อำนาจซื้อและความมั่งคั่งของประเทศเหล่านั้นลดลงอย่างมาก และส่งผลต่อความสามารถในการนำเข้า รวมทั้งกดดันให้ราคานำเข้าต้องลดต่ำลงลงหากต้องการแข่งขันได้ ทำให้ผู้ส่งออกจากประเทศคู่ค้าได้รับผลกระทบทั้งอุปสงค์ที่ลดลงและราคาเสนอขายปรับตัวลดลง

ผู้อำนวยการ สนค. ให้ข้อมูลว่า จากผลการศึกษาพบว่า ประเทศที่ค่าเงินผันผวนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ซูดาน อาร์เจนตินา และตุรกี ที่ร้อยละ 164.6 28.1 และ 27.6 ตามลำดับ และประเทศที่มีค่าเงินอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 3 อันดับแรก ได้แก่ ซูดาน อาร์เจนตินา และตุรกี ที่ร้อยละ 164.5 100.2 และ 40.9 ตามลำดับ ในส่วนของประเทศไทยมีค่าเงินผันผวนอยู่ที่อันดับที่ 48 ของโลก (อันดับ 3 ของอาเซียน) ที่ร้อยละ 4.6 สะท้อนถึงการมีเสถียรภาพในเกณฑ์ดี ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นอันดับที่ 71 ของโลก (อันดับ 8 ของอาเซียน) อ่อนค่าเพียงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภูมิภาคอาเซียน มีความผันผวนของค่าเงินในระดับต่ำ โดยค่าเงินอินโดนีเซียผันผวนมากที่สุด แต่เป็นการผันผวนในระดับต่ำ ที่ร้อยละ 5.6 สำหรับค่าเงินเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดยรวมยังอ่อนค่า เงินของเมียนมาอ่อนค่ามากที่สุด ที่ร้อยละ 14.2 ค่าเงินกัมพูชา และสิงคโปร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ขณะที่ค่าเงินเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2561 ประเทศที่ค่าเงินแข็งค่า ประกอบด้วย กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ และไทย ขณะที่ประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่า ประกอบด้วย ลาว ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้า 87 ประเทศ พบว่ามี 26 ประเทศ ที่ค่าเงินอ่อนค่ามากกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และในจำนวนนี้มี 8 ประเทศ ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 0.5 ของการส่งออกรวมของไทย ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ตุรกี ปากีสถาน บราซิล รัสเซีย เมียนมา ออสเตรเลีย และอินเดีย โดย 2 ประเทศที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยมากที่สุด คือ อาร์เจนตินา และตุรกี ซึ่งเงินอ่อนค่ามากถึงร้อยละ 100 และ 41 ตามลำดับ

              กรณีตุรกี: ค่าเงินตุรกีเริ่มหดตัวอย่างรุนแรงในเดือนสิงหาคม ปี 2561 ที่ร้อยละ 85-90 เมื่อรวมกับเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้ว ทำให้การส่งออกของไทยไปตุรกีหดตัวต่อเนื่องเป็นเวลา 8 เดือน (ข้อมูล เดือนมกราคม 2562) และอาจติดลบต่อไปในไตรมาสแรกและสองของปี 2562 โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกไปตุรกี ประกอบด้วย รถยนต์และอุปกรณ์ มีมูลค่าประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐ เครื่องปรับอากาศมีมูลค่าประมาณ 114 ล้านเหรียญสหรัฐ และยางพารามีมูลค่าประมาณ 86 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น ขณะที่สินค้าเกษตรที่สำคัญนอกจากยางพาราแล้ว ประกอบด้วยข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง แต่มีมูลค่าค่อนข้างน้อยเพียง 6 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่านั้น

กรณีอาร์เจนตินา: ค่าเงินอาร์เจนตินาเริ่มหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ปี 2561 ที่
ร้อยละ 100-110 โดยการส่งออกของไทยไปอาร์เจนตินาเริ่มหดตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 และหดตัวต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน และมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอาร์เจนตินา ประกอบด้วย รถยนต์และอุปกรณ์มีมูลค่า 328 ล้านเหรียญสหรัฐ เครื่องยนต์สันดาปมีมูลค่า 325 ล้านเหรียญสหรัฐ และผลิตภัณฑ์ยางมีมูลค่า 63.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 31.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ผู้อำนวยการ.สนค. กล่าวว่า ในกรณีของอาร์เจนตินาและตุรกี ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 1.0 ของการส่งออกรวมของไทย การส่งออกไปยังสองตลาดนี้อาจหดตัวเป็นเวลายาวนานถึง 12-24 เดือน จึงต้องเร่งหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะรถยนต์และอุปกรณ์ ส่วนสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา และอาหารทะเลกระป๋อง ก็ได้รับผลกระทบแต่มูลค่าไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ หน่วยงาน เช่น ธปท. EXIM Bank ธนาคารพาณิชย์ต่างก็มีมาตรการสนับสนุนการลดความเสี่ยงอยู่ ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกจึงควรศึกษาหาแนวทางรองรับ และใช้ประโยชน์มาตรการเหล่านี้ต่อไป

 

 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์