ดร.พีระพล พูลทวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมพัฒนาวิทยากรเพื่อการฝึกอบรมอาชีวศึกษาตามมาตรฐานสากล ความร่วมมือไทย-ออสเตรเลีย โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรมคือ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้พัฒนาทักษะในการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบของออสเตรเลีย ทั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนที่จบหลักสูตรจะได้รับใบประกาศนียบัตรจากองค์กรจดทะเบียนการฝึกอบรมออสเตรเลีย (Registered Training Organizations : RTOs) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มีผู้เข้าเข้ารับการอบรมทั้งหมด 27 คน ประกอบด้วย ครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 25 คน และนักวิชาการมาตรฐานวิชาชีพ จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์กรมหาชน) จำนวน 2 คน ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ ๑ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา
ดร.พีระพล เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนโยบายเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ผลิตและพัฒนาครูอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับบริบทของความเปลี่ยนแปลง เพิ่มขีดความสามารถทางภาษา และพัฒนาสมรรถนะกำลังคนอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐาน ในระดับสากล ซึ่งหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะสากล คือ ชุดหลักสูตรที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นสากล
สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการพัฒนาครูและบุคลากรอาชีวศึกษา จึงได้ร่วมมือกับ KANGAN INSTITUTE โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตออสเตรเลีย ให้ดำเนินการจัดโครงการพัฒนาวิทยากรเพื่อการฝึกอบรมอาชีวศึกษาตามมาตรฐานสากล ความร่วมมือไทย-ออสเตรเลีย โดยแบ่งเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ การประชุมเตรียมการฝึกอบรมพัฒนาวิทยากร ตามมาตรฐานสากล การฝึกอบรมพัฒนาวิทยากรเพื่อการฝึกอบรมอาชีวศึกษาตามมาตรฐานสากล ความร่วมมือไทย-ออสเตรเลีย และการประชุมสรุปผลการฝึกอบรมพัฒนาวิทยากรตามมาตรฐานสากล
ดังนั้น ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับการพัฒนาทักษะในการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบของออสเตรเลีย พัฒนาผู้เข้ารับการอบรมให้เป็นผู้นำในการจัดการเรียนรู้และการฝึกอบรม มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนการฝึกอบรม การออกแบบสื่อและเทคนิคในการฝึกอบรม โดยมุ่งเน้นการหลอมรวมองค์ความรู้จากภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการเข้ากับเนื้อหาการฝึกอบรม ทั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนที่จบหลักสูตรจะได้รับใบประกาศนียบัตรจากองค์กรจดทะเบียนการฝึกอบรมออสเตรเลีย (Registered Training Organizations : RTOs) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ จากสภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน ผู้รับการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ คือ พื้นฐานที่สำคัญของระบบการฝึกอบรมที่ตรงตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมยุคใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
รองเลขาธิการ กล่าวปิดท้ายว่า สอศ. โดยสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา มุ่งมั่นที่จะพัฒนาสมรรถนะกำลังคนอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานในระดับสากล สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในการก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0
////////////////////////////////////////////