ผู้ว่าอุบลฯ ควง 2 รองฯ ปลดหนี้! ครัวเรือนยากจน พร้อมให้กำลังใจทีมปฏิบัติการและทีมพี่เลี้ยง เพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ
ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ (ศจพ.) โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การแก้ปัญหาความยากจน แบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน โดยมีกลไกการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบาย โดยคณะกรรมการฯ ระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อขจพ.) มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน จนถึงระดับพื้นที่ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) ระดับอำเภอ ผ่านศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ (ศจพ.อ.) และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ และได้มีการตั้ง “ทีมพี่เลี้ยง” เข้าไปจัดทำแผนครัวเรือนร่วมกับทุกครัวเรือนยากจนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครัวเรือนมีการวางแผน/แก้ปัญหาตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัวแล้ว ทีมพี่เลี้ยงจะได้นำข้อมูลมารายงาน ศจพ.อ. เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ โดยประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่
1)ด้านสุขภาพ เช่น การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง
2)ด้านความเป็นอยู่ เช่น ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
3)ด้านการศึกษา เช่น การฝึกอาชีพ 4)ด้านรายได้ เช่น การจัดหาที่ดินทำกิน เกษตรแปลงใหญ่
5)ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยทีมพี่เลี้ยงจะลงไปพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของครัวเรือนยากจนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
จังหวัดอุบลราชธานี มีกลุ่มเป้าหมายที่ได้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองข้อมูลจากทั้ง 25 อำเภอในจังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 7,614 ครัวเรือน 11,666 คน แยกเป็นรายมิติ ดังนี้ มิติด้านสุขภาพ จำนวน 2,094 ครัวเรือน 2,970 คน มิติด้านความเป็นอยู่ จำนวน 1,884 ครัวเรือน 3,275 คน มิติด้านการศึกษาจำนวน 1,162 ครัวเรือน 1,202 คน มิติด้านรายได้ จำนวน 2,537 ครัวเรือน 3,292 คน มิติด้านการเข้าถึงบริการรัฐ จำนวน 337 ครัวเรือน 571 คน และมิติด้านอื่นๆ จำนวน 1,629 ครัวเรือน 2,226 คน
ซึ่งศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอเขมราฐ (ศจพ.อ.) ได้ดำเนินการตรวจสอบบุคคล/ครัวเรือนเป้าหมายจากระบบ TPMAP และผลการดำเนินงานตรวจสอบพบว่ามีครัวเรือนตกเกณฑ์ TPMAP 88 ครัวเรือน พบสภาพปัญหา 13 ครัวเรือน ส่วนครัวเรือนกลุ่มเปราะบางจำนวน 5,987 ครัวเรือน มีครัวเรือนที่พบสภาพปัญหา 62 ครัวเรือน ทำให้มีครัวเรือนเป้าหมายในพื้นที่อำเภอเขมราฐ รวมทั้งสิ้น 75 ครัวเรือน
โดยในวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2565 เวลา 09.00 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.จ) อุบลราชธานี พร้อมด้วย นายสมเพชร สร้อยสระคู นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนนายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นักวิชาการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่เพื่อบูรณาการความร่วมมือและให้กำลังใจตลอดจนให้คำแนะนำทีมพี่เลี้ยง พร้อมเยี่ยมเยือนครัวเรือนเป้าหมายตามโครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 1 ราย ได้แก่ นางทองพูล สืบลา บ้านเลขที่ 99 บ้านสนมหมากหญ้า หมู่ที่ 4 ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายสะอาด วงศ์รักษ์ นายอำเภอเขมราฐ นางมะลิวัลย์ ปูคะธรรม พัฒนาการอำเภอเขมราฐ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ ทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ และทีมพี่เลี้ยงในชุมชน ร่วมต้อนรับและให้การสนับสนุนการดำเนินงาน
สำหรับครัวเรือนยากจนเป้าหมาย นางทองพูล สืบลา อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 4 บ้านแก้งเหนือ ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีสมาชิกในครัวเรือน 2 คน ตกเกณฑ์ในด้านรายได้ ด้านสุขภาพ และด้านความเป็นอยู่ ไม่มีที่ทำกิน และบุตรสาวมีปัญหาด้านสุขภาพไม่สามารถประกอบอาชีพได้ มีเพียงรายได้หลักจากเบี้ยคนพิการ เดือนละ 800 บาท ซึ่งการช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในครั้งนี้ นายสะอาด วงศ์รักษ์ นายอำเภอเขมราฐ ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.อ.) เขมราฐ นางมะลิวัลย์ ปูคะธรรม พัฒนาการอำเภอเขมราฐ พัฒนากรประสานงานตำบล ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) ตำบลแก้งเหนือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแก้งเหนือ ผอ.รพสต.แก้งเหนือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในฐานะทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ และทีมพี่เลี้ยงในชุมชน ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานในเบื้องต้น โดยได้มีการให้ความรู้เรื่องแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสนับสนุนเมล็ดพันธ์ุพืชผัก ปรับพื้นที่บริเวณรอบบ้านเพื่อปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ การบริหารจัดการชีวิต รวมถึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการเดินทางสัญจรไปตรวจสุขภาพและรับยารักษาโรคที่โรงพยาบาลในตัวอำเภอ การซ่อมแซมบ้านพักที่อยู่อาศัยจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนการจัดกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือและปรับภูมิทัศน์ครัวเรือนยากจนโดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและฝ่ายปกครองในพื้นที่ตำบลแก้งเหนืออีกด้วย
นอกจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนนายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี และพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ยังได้มอบถุงยังชีพและสิ่งของอุปโภคบริโภค และเงินจำนวน 3,000 บาท จากเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมเงินส่วนตัวอีก 8,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,000
บาท เพื่อบรรเทาปัญหาเบื้องต้นและปลดหนี้สินให้แก่ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย ซึ่งมีอยู่ 9,000 บาท สร้างความตื้นตันใจแก่ครัวเรือนเป้าหมายนางทองพูล สืบลา เป็นอย่างยิ่ง
ท้ายที่สุด ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบแนวทางการดำเนินงานและกล่าวให้กำลังใจกับทีมปฏิบัติการฯ และทีมพี่เลี้ยงในระดับพื้นที่ว่า “การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยนั้น ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนชาวไทย ในวันนี้จึงถือโอกาสมาให้กำลังใจทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่และทีมพี่เลี้ยงในชุมชน ตลอดจนเยี่ยมครัวเรือนยากจนเป้าหมาย ซึ่งทางจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด (ศจพ.จ.) ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับอำเภอ (ศจพ.อ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แต่งตั้งทีมพี่เลี้ยง ทีมปฏิบัติการระดับตำบล และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหมู่บ้าน มาร่วมกันกำหนดแผนครัวเรือนให้กับครัวเรือนเป้าหมาย เพื่อที่จะได้ทราบว่าครัวเรือนนั้นๆ มีปัญหาความต้องการอะไร และตกเกณฑ์ในมิติใดบ้าง แล้วนำเมนูความช่วยเหลือครัวเรือนที่เกิดจากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานราชการในจังหวัดอุบลราชธานี มาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ได้ตรงกับปัญหาความต้องการของครัวเรือนเป้าหมายต่อไป ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืนตรงจุด จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะทีมพี่เลี้ยง ที่ต้องมีความแม่นยำในเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น การขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ หรือสวัสดิการรัฐอื่นๆ โดยขอให้มีการจัดสรรจำนวนครัวเรือนที่รับผิดชอบต่อทีมพี่เลี้ยงให้เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป เพื่อที่จะช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง เมื่อการดำเนินงานเป็นไปอย่างแม่นยำและชัดเจน ก็จะทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี”