สธ.ประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์สัญจร เริ่มต้นเขตสุขภาพที่ 9 สร้างความรู้ความเข้าใจทุกมิติ สู่การเป็นศูนย์กลางกัญชาระดับโลก

กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์สัญจร เริ่มเขตสุขภาพที่ 9 ที่จังหวัดสุรินทร์ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ข้อมูลวิชาการกัญชาทางการแพทย์ ส่งเสริมศักยภาพ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชากัญชงในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตลอดจนต่อยอดทางธุรกิจให้เป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางกัญชาระดับโลก

วันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.สุรินทร์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 9 โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเข้าร่วม

นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ส่งเสริมสมุนไพรไทย กัญชา กัญชง ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ และนำมาใช้ทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย ปัจจุบันมีผู้ป่วยได้รับยากัญชามากกว่า 240,000 ราย เป็นยาแผนไทย 85% แผนปัจจุบัน 15% รวมถึงมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 7 พันล้านบาท ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน เปิดโอกาสให้สามารถนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และในครัวเรือนได้มากขึ้น ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชา 400 กว่าแห่ง กัญชง 1,800 กว่าแห่ง และมีผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชงออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมและศักยภาพที่จะผลักดันกัญชา กัญชง ให้เป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน และส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางกัญชาระดับโลกได้

ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยากัญชาในการรักษาโรคต่างๆ การเปิดคลินิกกัญชาในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อจิตและประสาท หรือการเสพติดในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ พบว่า มีผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชาจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงต้องเร่งให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยกำหนดให้มีการจัดประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ใน 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลวิชาการกัญชาทางการแพทย์ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชงกัญชงในทุกมิติ ทั้งการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในสถานพยาบาลและภาคประชาชน การพัฒนาธุรกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือน จนถึงระดับอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Wellness Center เริ่มจากเขตสุขภาพที่ 9 (นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์และชัยภูมิ)

ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ มีการปลูกกัญชา 53 แห่ง กัญชง 93 แห่ง มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพผลิตยากัญชาทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทยเพื่อสนับสนุนในเขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพอื่นๆ และยังสามารถเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐได้ครบทุกแห่ง ภาคเอกชนอีก 9 แห่ง ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชาทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบันได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Care) นอกจากนี้ แต่ละจังหวัดยังมีจุดเด่นในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของดีของแต่ละจังหวัด อาทิ ลูกชิ้นยืนกิน จ.บุรีรัมย์, หมี่โคราช จ.นครราชสีมา, กาละแม จ.สุรินทร์, หม่ำ จ.ชัยภูมิ เป็นต้น

กิจกรรมภายในงานได้รับความร่มมือจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สถาบันกัญชาทางการแพทย์ ประสานให้มีการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ สอบถามเรื่องการรักษา และการต่อยอดทางเศรษฐกิจ, อย.ให้คำปรึกษาการขออนุญาตการปลูกเชิงพานิชย์, กรมการแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ให้คำปรึกษาเรื่องโรคและยากัญชา การจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์, กรมสุขภาพจิต ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ความรู้เรื่องสายพันธุ์กัญชา การตรวจวิเคราะห์สารสำคัญต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภายนอก เช่น กรมวิชาการเกษตร ให้ความรู้ในการปลูกกัญชากัญชง สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน จัดแสดงหลักสูตรอบรมการแปรรูปกัญชา เป็นต้น โดยงานเริ่มตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 6 มีนาคม 2565

*******************4 มีนาคม 2565