วันที่ 4 มีนาคม 2565 กรมสุขภาพจิตเดินหน้าสนับสนุนนโยบาย“เจอ แจก จบ”ของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้บริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัวที่ตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 แต่อยู่ในกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่มีความเสี่ยงทางกาย ให้เข้าถึงยารักษาตามอาการ เริ่มนำร่องในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชน จากการพยากรณ์ความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนที่มาใช้บริการผ่านช่องทาง www.วัดใจ.com โดยเปรียบเทียบสถิติจริงของเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กับ ค่าพยากรณ์สถิติของเดือนมีนาคม 2565 พบมีจะแนวโน้มความเสี่ยงโดยรวมที่สูงมากขึ้น โดยพบว่า ประชาชนอาจมีความเครียดสูงขึ้นเป็น 2.1 เท่า ซึมเศร้าสูงขึ้น 4.8 เท่า ฆ่าตัวตายสูงขึ้น 5.9 เท่า และภาวะหมดไฟ สูงถึง 9.7 เท่า
นอกจากนี้จากการพยากรณ์สถิติยังพบข้อมูลที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ จำนวนประชาชนมีพลังใจที่ลดลง จะมีเพิ่มมากขึ้นกว่า 80% จากผลสำรวจดังกล่าว กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมากและตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของทุกคน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่จำเป็นต้องเร่งป้องกัน แก้ไข และดูแลเยียวยาจิตใจประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ปัญหาทางสุขภาพจิตที่มากขึ้นส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่กระจายไปในหลายพื้นที่อย่างรวดเร็วจนสสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนและผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต
กรมสุขภาพจิตจึงมีนโยบายช่วยลดความตระหนกกังวลและสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยการเดินหน้าสนับสนุนนโยบาย “เจอ แจก จบ” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิตจะเริ่มให้บริการแบบผู้ป่วยนอกเพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัวที่ตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 แต่อยู่ในกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการน้อย โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาตามระดับอาการของโรค ใน 3 สูตร ได้แก่
1.ยาฟาวิพิราเวียร์
2.ยาฟ้าทะลายโจร
3.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก หลังจากนั้นจะแยกตัวกักที่บ้านและมีการติดตามโดยเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดต่อไป
ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะนำร่องการดูแลผู้ป่วยจิตเวชตามนโยบาย“เจอ แจก จบ” ในโรงพยาบาลจิตเวชและสถาบันสุขภาพจิต 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศรีธัญญา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และ โรงพยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่น 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และสถาบันราชานุกูล และจะขยายไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ในสังกัดกรมสุขภาพจิตต่อไปในอนาคต
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสุขภาพจิตได้วางเป้าหมายเพื่อขยายบริการในสถาบัน/โรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ “เจอ แจก จบ” ที่เพิ่มมากขึ้นและครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเข้าถึงบริการการรักษาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์และสนใจเข้ารับบริการดังกล่าวสามารถติดต่อไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตทั้ง 5 แห่ง ได้ดังต่อไปนี้
โรงพยาบาลศรีธัญญา (โทร 02-528-7887) สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา (โทร 02-442-2500 ต่อ 59161) และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (โทร 02-441-6117) โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ (โทร 02-384-3381) และสถาบันราชานุกูล (02-248-8900)
************* 4 มีนาคม 2565