มข.เปิด โครงการ “KKU Smart flower farm 2022” สร้างแนวคิด ผปก.ให้กับ นศ.จากประสบการณ์จริง

มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิดโครงการ “KKU Smart flower farm 2022”  โดยมี รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.เอื้อนจิต พานทองวิริยะกุล ภริยา รศ.ดร.ดรุณี  โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี  คณบดี  ผู้บริหารหน่วยงาน  คณาจารย์  สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมในพิธี ณ แปลงเกษตรเชิงท่องเที่ยว บริเวณทิศใต้ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร.ดรุณี  โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  โครงการ “KKU Smart flower farm 2022” เป็นแปลงไม้ดอกของชุมนุมเกษตรนวัตกรรม สาขาวิชาเกษตรนวัตกรรม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ  การสร้างประสบการณ์จริงจากการฝึกปฏิบัติ และบูรณาการการเรียนการสอน รวมไปถึงการสร้างภาพลักษณ์อันดีของ คณะเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้บุคคลทั่วไปได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ที่นี่นับเป็น Land Mark แห่งใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ จังหวัดขอนแก่น ที่รอรับการมาเยือนของบุคคลที่รักความเป็นธรรมชาติ รักการถ่ายภาพ และ รักในสีสันความสวยงามของไม้ดอกหลากชนิด

“ปีนี้เราจัดการค่อนข้างจะลำบาก เนื่องจากดอกไม้บางส่วนโรยไปแล้ว แต่เดิมเราไม่เคยปลูกดอกไม้จำนวนมากขนาดนี้ เพราะเราไม่เชื่อว่าดอกไม้สวย ๆ จะมาปลูกในอีสานของเราได้ แต่ปีที่แล้วเราได้เริ่มปลูก และ ปีนี้มีการขยายพื้นที่มากยิ่งขึ้น  ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้การนำเทคโนโลยีด้านต่างๆมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น การวางระบบน้ำ การให้ปุ๋ย การควบคุมจากมือถือ รวมถึงการให้แสงเพื่อควบคุมการออกดอก เพราะฉะนั้น พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นพื้นที่ของการฝึกปฏิบัติงาน  ขอบคุณท่านอธิการ ที่ท่านได้กรุณาจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก ในการปรับปรุงพื้นที่รอบอุทยานเกษตร ที่มีทั้งทางเดิน ทางวิ่ง ลู่จักรยาน ซึ่งตรงนี้ก็จะกลายเป็นแหล่งพักผ่อนของคนในมหาวิทยาลัยที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง”

รศ.ดร.ดรุณี  กล่าวด้วยว่า หลายปีที่ผ่านมา การทำกิจกรรมของนักศึกษา คณะเกษตรศาสตร์ จะไม่ค่อยมีใครได้เห็น  แต่การปรับปรุงและทำกิจกรรมในพื้นที่ตรงนี้ ที่มีผู้คนผ่านไปมา มีคนมาวิ่ง มีคนมาทักทาย เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาได้เห็น รับรู้ได้ว่าจริง ๆ อาชีพเกษตรมีอะไรให้ทำหลากหลาย และสามารถที่จะสร้างความสุขให้กับคนทั่วไป รวมทั้งคนในมหาวิทยาลัยด้วย นอกจากนี้ท่านอธิการต้องการเห็นการจัดการศึกษาที่  นักศึกษาได้เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง และ ใส่ทักษะของความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ระดับที่เป็น Global & Frontier Research ลงไปในเด็ก ฉะนั้นพื้นที่ตรงนี้จึงเป็นพื้นที่ที่พวกเขาจะได้เรียนรู้ ฝึกฝน และได้นำไปพัฒนาทักษะต่าง ๆ ต้องขอบคุณท่านอธิการบดี ท่านผู้บริหาร ที่สนับสนุนการกิจกรรมทุกปี หวังว่าวันนี้ทุกท่านจะมีความสุขในการที่ได้มาถ่ายรูปกับแปลงสวย ๆ และได้มาให้กำลังใจนักศึกษาในการเรียนรู้การทำงานจริงไปพร้อมๆกัน”

รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า รู้สึกชื่นชมในความร่วมมือร่วมใจ และ ความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และ ได้ร่วมแรงกันพลิกฟื้นพื้นที่ว่างเปล่าของคณะ ให้สวยงาม กลายเป็น Landmark แห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เมื่อได้รับทราบถึงปัญหาและอุปสรรค ในการทำงานที่นักศึกษาได้พบเจอ  นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เนื่องจากผมคิดว่าอุปสรรคต่างๆนั้น เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้  ถ้าหากเราทำงานง่าย ย่อมไม่เกิดการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหา ฉะนั้นต้องขอบคุณนักศึกษา   และขออวยพรให้โครงการ KKU Smart flower farm 2022 ของคณะเกษตร สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ ขอส่งกำลังใจให้กับทางผู้บริหาร และ ทางนักศึกษาที่ได้มุ่งมั่นทุ่มเท สร้างภาพสวย ๆ สร้างบรรยากาศสวย ๆ ให้พวกเราได้ชื่นชม

นาย ชณพล วิริยะจิตต์   นักศึกษาชั้นปีที่1 สาขาวิชาเกษตรนวัตกรรม  คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  โครงการ “KKU Smart flower farm 2022” มีพื้นที่ในการปลูกกว่า 13 ไร่  แบ่งเป็นแปลงดอกคัตเตอร์ เป็น 4 ไร่  แปลงคอสมอส  2 ไร่ และแปลงทานตะวัน 7 ไร่    ถือว่าใช้พื้นที่ว่างเกือบทั้งหมดในการดำเนินโครงการ ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการทั้งกระบวนการที่ดี ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดเวลาในการปลูกให้เหมาะสมเพื่อให้ดอกไม้ออกดอกได้ทันเวลาที่กำหนดไว้ การจัดการระบบน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง การจัดการแรงงาน และ การมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละฝ่าย

“การทำงานครั้งนี้มีความล่าช้า และยากลำบากพอสมควร เนื่องจากหลายปัจจัย  อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดและความรุนแรงของโควิด 19 ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่ทำให้การเตรียมพื้นที่ล่าช้า เนื่องจากดินมีความแห้งและแข็ง ทำให้การขึ้นแปลงยากพอสมควร การบุกรุกของสุนัข ที่เราต้องแก้ปัญหาโดยการทำรั้วกั้นในช่วงแรก และ ปัญหาพายุที่ทำให้แปลงดอกคอสมอสของเราได้รับความเสียหายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ต้นที่ล้มลง หรือ กลีบดอกโรย ซึ่งเราได้แก้ปัญหาโดยการนำเชือกไปกั้นไว้ นอกจากปัญหาที่ต้องแก้ไขแล้ว  ในแง่การวางแผนการนำดอกไม้มาปลูก เรามีการคิดและวางแผนมาเป็นอย่างดี เพื่อให้ดอกไม้แต่ละแปลงช่วยเหลือและส่งเสริมความงาม ความโดดเด่นซึ่งกันและกัน ถ้าเกิดวางแผนไม่ดี จะทำให้ต้นไม้แปลงนี้บดบังดอกไม้อีกแปลงหนึ่ง”

“ในส่วนของดอกไม้ที่พวกเรานำมาปลูกมีความหมายดี ๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ดอกคัตเตอร์ ที่เป็นดอกไม้เสริมเพื่อให้ดอกไม้อื่น ๆ ดูเด่นขึ้น ผู้จัดจึงมักเปรียบดอกคัตเตอร์ว่าเป็นดั่งดอกแอบรักใครสักคนแบบไม่เปิดเผย แต่มั่นคง คล้ายกับการบอกว่าแม้คุณจะไม่ใส่ใจฉันก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ว่าอย่างไรคุณจะมีฉันอยู่ข้าง ๆ เสมอ  ดอกทานตะวันที่สื่อถึงสัญลักษณ์ของความเชื่อมั่น ความมั่นคง ความรักเดียวใจเดียว ดอกคอสมอส (Cosmos) ที่สื่อถึงความสันติสุข ความตั้งใจ ความบริสุทธิ์ใจของหญิงสาว นอกจากความหมายดี ๆ ของดอกไม้แล้ว อุปกรณ์ที่เรานำมาตกแต่งสถานที่ ในแปลงยังมีการวางแผนมาเป็นอย่างดี เช่น แปลงดอกคัตเตอร์สีขาวพุ่มจะมีความสูง ฉะนั้นพวกเราจึงมีการเสริมพื้นยกระดับเพื่อให้ง่ายต่อการถ่ายรูปของผู้ที่มาชมแปลง  ส่วนแปลงของคัตเตอร์ม่วง จะมีกระจกรูปทรงต่าง ๆ หลายแบบ สร้างมิติในการถ่ายภาพ  ใต้ต้นไม้เราจะผูกริบบิ้น และ ซุ้มตาข่ายดักฝัน ส่วนทุ่งของคอสมอส จะมีซุ้มสามเหลี่ยม เชื่อว่า นักท่องเที่ยวที่ได้มาเห็นผลงานเหล่านี้จะได้รับความสดชื่น และประทับใจอย่างแน่นอน”

โครงการ “KKU Smart flower farm 2022” คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2564 โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ร่วมกับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเกษตรศาสตร์ ร่วมกันทดลองปลูกไม้ตัดดอกในพื้นที่ 100 ตารางวา เพื่อจำหน่าย ในเวลาต่อมาแปลงดอกไม้ได้รับความนิยมในการเป็นสถานที่ถ่ายภาพที่มีความสวยงาม จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเติมเป็นขนาด 1 ไร่ และได้รับการตอบรับด้วยดีจากบุคลากรชาว มข. นักศึกษา และ ประชาชนทั่วไป การดำเนินโครงการในปีแรกที่ประสบความสำเร็จ จึงได้ดำเนินโครงการต่อในปี 2565  ทั้งนี้ผู้ที่สนใจ สามารถมาชมความสดชื่น งดงามของดอกไม้ได้ระหว่าง เวลา 7.00 น.-18.30 น. ณ แปลงเกษตรเชิงท่องเที่ยว บริเวณทิศใต้ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยมีค่าเข้าชมท่านละ 30 บาท