สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว ประเทศจีน ได้รายงานแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มชาของจีนในปี 2019 จากเว็บไซด์ Meituan เปิดเผยว่าร้านจำหน่าย เครื่องดื่มชามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2561 จีนมีร้านจำหน่าย เครื่องดื่มชาทั้งสิ้น 410,000 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยแบรนด์ CoCo เป็นร้านจำหน่ายเครื่องดื่มชาที่มีสาขามากที่สุด 3,000 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.7 ของร้าน จำหน่ายเครื่องดื่มในจีน ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ในเมืองขนาดใหญ่ของจีนร้านจำหน่ายเครื่องดื่มชามีอัตราการปิดตัวลงร้อยละ 55 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ร้านชาแบรนด์ดัง อาทิ ร้านชา HEYTEA, LELECHA และ NAYUKI ยังมีแนวโน้มการเปิดร้านใหม่ในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น
ทั้งนี้ ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มชายุคใหม่ ในประเทศจีน ได้รับความนิยมและมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ร้านจำหน่ายชาในยุคแรก ๆ ทยอยปิดตัวลง จากรายงานพบว่าในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2560 ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มชาในยุคแรก มีรายได้จากลูกค้าต่อคนไม่เกิน 15 หยวน ปิดตัวลงร้อยละ 63 และในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ปิดตัวลงร้อยละ 57 สำหรับร้านจำหน่ายเครื่องดื่มชายุคใหม่มีรายได้จากลูกค้าต่อคนประมาณ 15 – 29 หยวนกลับมีการเปิดร้านใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มชาในจีนได้รับความนิยมมาหลายปีแล้ว การแข่งขันของธุรกิจนี้จะยิ่งสูงขึ้นตามการ เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ที่นิยมลองชิมสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ
“นอกจากนี้ ชาไทยนับว่าเป็นที่นิยมของชาวจีน เช่นกัน โดยภาคเหนือและอีสานของจีนส่วนใหญ่จะหารับประทานชาไทยได้จากร้านอาหารไทยเท่านั้น ยังไม่มีจำหน่ายในร้านเครื่องดื่มชาทั่วไป ประเทศไทยถือว่ามีชื่อเสียงเรื่องอาหารและเครื่องดื่มอยู่แล้ว ชาสมุนไพรและชาผลไม้มีคุณภาพดี จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้ามาเปิดตลาดในจีน ควรศึกษาพฤติกรรมการดื่มชาของชาวจีนแต่ละภูมิภาคเพื่อปรับปรุงรสชาติให้ตรงกับความนิยม รวมทั้ง ควรหาช่องทางการเปิดตลาด โดยเฉพาะในระบบอีคอมเมิร์ซที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในจีน” นางสาวเกษสุรีย์ วิจารณกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว กล่าว
ทางสำนักงานฯ เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการผลิตและจัดจำหน่ายชาสมุนไพรและชาผลไม้ จึงอยากเสนอแนะและเชิญชวนให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตไทยพิจารณาถึงการผลิตชาสมุนไพรและชาผลไม้ เพื่อเป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าที่ชื่นชอบการดื่มชาและยังเป็นการเพิ่มทางเลือกในการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะส่งออกไปยังประเทศจีนที่มีผู้ที่นิยมดื่มชาสมุนไพรและชาผลไม้ที่ผลิตในประเทศไทย
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือช่องทางสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169
*****************************************************
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ