กรมอนามัย – ทปอ. เข้มสนามสอบ เปิดโอกาสให้เด็กเข้าสอบ พร้อมย้ำแนวทางป้องกันขั้นสูงสุด

​วันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย และ รศ.ดร.​ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบสอบ TCAS65 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แถลงข่าว “สนามสอบ เข้มมาตรการป้องกันโควิดขั้นสูงสุด”

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์โควิดในช่วงสัปดาห์นี้ ยังคงพบการ ติดเชื้อรายวันในระดับกว่า 20,000 ราย ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง การป้องกันตนเองขั้นสูงสุดจึงเป็นหลักการที่ต้องยึดถือปฏิบัติ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน ที่ในช่วงเดือนมีนาคมนี้เป็นฤดูกาลแห่งการสอบ ทั้งสอบปลายภาค เลื่อนระดับช่วงชั้น รวมถึง การเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย มาตรการที่เคร่งครัด และการปฏิบัติตนเองอย่างเข้มข้น จึงต้องดำเนินการควบคู่กันไป ภายใต้การระบาด ของโรคโควิด-19 ที่ต้องเฝ้าระวังรายวัน เพราะจากข้อมูลแนวโน้มการติดเชื้อรายสัปดาห์ ตั้งแต่มกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2565 สังเกตได้ว่าแนวโน้มการติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่อง จากสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม เกือบ 35,000 ราย ถึงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบการติดเชื้อถึง 140,000 ราย สอดคล้องกับการติดเชื้อในเด็กช่วงอายุ 0-18 ปี ที่มีการติดเชื้อ รายสัปดาห์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อจากการสอบสวนโรค ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน โดยเฉพาะบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว รองลงมาคือ มีประวัติเสี่ยงไปในที่ชุมชน และติดเชื้อในสถานศึกษา ตามลำดับ หากแบ่ง ตามกลุ่มอายุจะพบว่า เด็ก 0-9 ปี มักจะติดเชื้อในครอบครัว เด็ก 15-19 ปี มักติดเชื้อนอกบ้าน ในชุมชน ส่วนเด็ก 10-14 ปี มีการติดเชื้อในโรงเรียน โดยสัดส่วนของกลุ่มวัยที่ติดเชื้อโควิด-19 พบว่า กลุ่มวัย 0-18 ปี ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม พบการติดเชื้อในกลุ่มวัย 0-18 ปี ประมาณร้อยละ 12 และเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม จนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มวัยนี้มีสัดส่วนที่สูงขึ้น และอาจสูงกว่านี้ หากมีการละเลยที่จะป้องกัน และปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

​“สำหรับข้อมูลสำรวจอนามัยโพล ที่สำรวจพฤติกรรมสุขภาพในการป้องกันโรคของกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 24 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มเด็ก นักเรียน นักศึกษา อายุต่ำกว่า 24 ปี มีพฤติกรรมการสวมหน้ากาก กว่าร้อยละ 90 แต่พฤติกรรมการล้างมือ และการเว้นระยะห่าง ในเดือนกุมภาพันธ์ มีแนวโน้มที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่มีพฤติกรรมล้างมือ ร้อยละ 83.0 และเว้นระยะห่าง ร้อยละ 70.1 ในเดือนมกราคม ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 73.4 และร้อยละ 62.5 ตามลำดับ ในเดือนกุมภาพันธ์ แสดงให้เห็นว่า กลุ่มวัยเหล่านี้ต้องให้ความสำคัญกับการล้างมือ และเว้นระยะห่างให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของการติดและแพร่เชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ต้องสอบนั้น ต้องเฝ้าระวังตนเอง อย่างเข้มข้น ในส่วนของการจัดสอบนั้น กลุ่มนักเรียน ผู้จัดสอบ และบุคลากรทางการศึกษา จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลัก VUCA เริ่มจากแต่ละบุคคลควรรับวัคซีนตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด มีการปฏิบัติตามหลัก UP (Universal Prevention) ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่มีการสัมผัส ส่วนสถานศึกษา สถานที่จัดสอบ ต้องดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting รวมถึงแต่ละบุคคลต้องประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” หรือแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ และควรตรวจ ATK เมื่อมีอาการหรือมีความเสี่ยงสูง เหล่านี้คือ หลักปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำให้ทุกคน ทุกหน่วยงาน ถือปฏิบัติในทุกสถานการณ์” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

​ด้าน นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มาตรการการจัดสอบสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานที่สอบนั้น มีการดำเนินงานดังนี้

1) การบริการจัดการ เป็นความร่วมมือกันระหว่าง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เป็นประธานในการอำนวยการสอบ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์อนามัย ศึกษาธิการจังหวัด ทปอ.จังหวัด ดำเนินการจัดการสอบให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุข และมาตรการการจัดสอบ โดยให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ หรือมีความเสี่ยงสูง ไม่แนะนำให้ตรวจทุกราย พร้อมกำหนดให้แต่ละจังหวัด พิจารณาเปิดศูนย์สอบตามความเหมาะสม อย่างน้อย 1 แห่ง อาจพิจารณาใช้พื้นที่แยกกักชุมชน (CI) เพื่อจัดสอบ หรือ Hospitel เพื่อจัดที่พัก การจัดระบบให้บริการอาหาร ตามหลักสุขาภิบาลอาหาร และหลักโภชนาการ แยกของใช้ เช่น จัดอาหารกล่อง ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน จัดบริการรถรับ-ส่ง สำหรับผู้ติดเชื้อ เพื่อเดินทางมาสอบ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี จัดบริการรถ TAXI ฉุกเฉิน ในส่วนของต่างจังหวัดได้มอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมกับผู้จัดสอบในต่างจังหวัด พิจารณาการจัดบริการรถ

2) สถานที่สอบ ประสานหน่วยบริการสาธารณสุขตามระบบอนามัยโรงเรียน ในการคัดกรองและให้คำแนะนำ ด้านสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด จัดให้มีพื้นที่แยกสำหรับจัดการสอบเป็นสัดส่วน แยกกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และกลุ่มผู้ติดเชื้อ เน้นให้มีการระบายอากาศที่ดี จัดที่นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร จัดระบบอนามัยสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในการป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา เช่น การจัดการขยะติดเชื้อ และทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส

3) ผู้คุมสอบ ปฏิบัติการคุมสอบตามมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อ เช่น สวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่าง ใช้เวลาในการคุมสอบในห้องสอบให้น้อยที่สุด วางแผนจัดการสอบให้เหมาะสม

4) ผู้เข้าสอบ เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ควรตรวจสอบสถานที่สอบที่กำหนด และลงทะเบียนกับ สถานที่สอบเมื่อทราบว่าตนเองติดเชื้อ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังการเข้าสอบ งดการพูดคุย เว้นระยะห่าง สำหรับการเดินทางไปสนามสอบควรใช้รถยนต์ส่วนตัว ในกรณีไม่มีรถส่วนตัว ให้ประสานหน่วยสถานที่สอบ หน่วยบริการสาธารณสุข ดังนั้น ก่อนการสอบ ขอให้ทุกคนยกการ์ดสูงสุดป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ แต่หากติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่รุนแรง จะได้ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับอนาคตทางการศึกษาของนักเรียน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

​ด้าน รศ.ดร.​ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบสอบ TCAS65 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ดำเนินการจัดสอบ โดยมีสนามสอบทั้งสิ้น 213 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัด ทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการสอบเฉพาะผู้ที่ไม่ติดเชื้อ สามารถเข้าสอบได้ตามปกติ ส่วนการดำเนินการสนามสอบพิเศษ ได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์สอบในแต่ละภูมิภาค ประกอบด้วย

1) ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2) ภาคเหนือ ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยแม่โจ้

3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

4) ภาคใต้ ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

โดยศูนย์สอบทั้ง 6 แห่ง ที่จัดตามภูมิภาคนี้ เป็นศูนย์สอบที่จัดเฉพาะสำหรับผู้เข้าสอบ ที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องไม่มีอาการ หรืออาการน้อย หรือที่เรียกว่ากลุ่มผู้ป่วยสีเขียว สามารถลงทะเบียนสอบผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ student.mytcas.com ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป โดยในส่วนของจังหวัดจันทบุรี ได้ดำเนินการจัดสนามสอบพิเศษเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในจังหวัดจันทบุรี และติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการสอบ TCAS65 สามารถลงทะเบียนในระบบนี้เช่นเดียวกัน เมื่อลงทะเบียนแล้ว ให้กำหนดรายวิชาที่ประสงค์จะสอบ และสามารถเข้าร่วม Open chat เพื่อใช้ในการติดต่อข้อมูลต่าง ๆ กับสนามสอบพิเศษ เมื่อถึงวันสอบให้ผู้สอบเดินทางมาสนามสอบพิเศษ ด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือประสานงานหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือ จิตอาสาชุมชน เพื่อนำผู้สอบมายังสนามสอบพิเศษ

“ทั้งนี้ สนามสอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีที่พักสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้าพักได้ที่มหาวิทยาลัย ซึ่งจะเปิดให้เข้าพักในวันที่ 11 มีนาคม 2565 โดยกำหนดสอบวันแรกวันที่ 12-15 มีนาคม 2565 และวันที่ 19-20 มีนาคม 2565 การเตรียมตัวมาสอบให้แต่งกาย และเตรียมอุปกรณ์มาสอบ เสมือนการมาสอบปกติ นอกจากนี้ ต้องเตรียมสเปรย์แอลกอฮอล์ มาด้วย ในส่วนการจัดสอบของสนามสอบพิเศษ ได้จัดสถานที่แยกออกเฉพาะจากอาคารปกติทั่วไป มีระบบน้ำ ระบบห้องน้ำ ซึ่งแยกออกจากอาคารทั่วไปด้วย โดยใช้ห้องสอบที่มีขนาดใหญ่ มีระยะห่าง 2 เมตร ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง ผู้คุมสอบ มี 2 ช่องทาง คือ ศูนย์สอบเป็นผู้จัดหา หรือขอความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขดำเนินการจัดหา โดยผู้คุมสอบต้องใส่ชุด PPE คุมสอบ และลดการสัมผัสให้มากที่สุด” รศ.ดร.​ชาลี กล่าว