จ.เชียงใหม่ 21 มีนาคม 2526 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โชว์ศักยภาพ “โครงการเชียงใหม่เมืองกาแฟ” เน้นสร้างคลัสเตอร์ผู้ผลิตกาแฟทั้งระบบ สูตรสำเร็จผลิตกาแฟมาตรฐานสากล ผ่านกระบวนการส่งเสริม วิจัย และพัฒนา ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมผลักดันกลยุทธ์ ปี’62 เปิดมาสเตอร์แพลน 4 ด้าน หนุนผู้ประกอบการกาแฟ คัดสรรคุณภาพ มีมาตรฐาน เน้นใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต พร้อมทั้งส่งเสริมวิชาชีพบาริสต้าก้าวสู่ศูนย์กลางผลิตกาแฟออร์แกนนิกไทย
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ (21 มีนาคม 2562) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมความคืบหน้า ในการพัฒนา “โครงการเชียงใหม่เมืองกาแฟ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ กับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน และชุมชนในพื้นที่เพื่อพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟทั้งระบบ ตั้งแต่การเพาะปลูก แปรรูป จัดจำหน่ายในรูปแบบคลัสเตอร์ที่สามารถสร้างโอกาสในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวสูงส่งผลให้ผลิตภัณฑ์กาแฟเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กสอ.ยังได้เข้าไปส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมกาแฟในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางกาแฟของโลกอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากกาแฟนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต จากการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ดังนั้น การส่งเสริมอุตสาหกรรมกาแฟแบบครบวงจร จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทาง กสอ. มุ่งเน้นที่จะพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกาแฟในด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับศักยภาพ ของกาแฟไทยสู่ตลาดสากล นอกจากนี้ กสอ. โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ ยังได้มีการผลักดันให้เกิดโครงการต่าง ๆ ที่เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมกาแฟภาคเหนือให้เติบโตและยั่งยืน มาโดยตลอด ทั้งการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มในลักษณะของ “คลัสเตอร์ (Cluster)” โดยกลุ่มต้นทางได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ความรู้ด้านการคัดเลือกสายพันธุ์ การดูแลพื้นที่ปลูก การตัดแต่งกิ่ง การเก็บเกี่ยว การแปรรูป เมล็ดกาแฟ ตลอดจนการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน กลุ่มกลางทางสนับสนุน ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการควบคุมคุณภาพการผลิต เพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิต และกลุ่มปลายทางได้สนับสนุนมุ่งเน้น ด้านการประกอบธุรกิจกาแฟ เสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะบุคลากร ทั้งเรื่องเทคนิคการคัดคุณภาพสารกาแฟ เทคนิคการคั่ว การผสมสูตรที่มีลักษณะเฉพาะ การชงกาแฟ และการบริหารจัดการหน้าร้าน เพื่อให้เกิดความอยู่รอดและยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ เชียงใหม่เมืองกาแฟขึ้น โดยมี นางนฤมล ทักษะอุดม กรรมการผู้จัดการบริษัทชาวไทยภูเขา (Hill Koff) เป็นประธานคลัสเตอร์ ซึ่งถือเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการกาแฟ ประกอบไปด้วยสมาชิกประมาณ 100 คน อาทิ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด (ชาวไทยภูเขา) บริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด บริษัท ดอยสะเก็ดชาไทย จำกัด ไร่กาแฟโป่งเดือด ไร่ม่อนมาตุภูมิ อาราบีก้าคอฟฟี่บีนส์ บริษัท ไฮแลนด์คอฟฟี่ จำกัด กาแฟดอยเวียง และเครือข่ายผู้ประกอบการกาแฟในพื้นที่เชียงใหม่ นับว่าเป็นการรวมกลุ่มตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และเจ้าของร้านกาแฟ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดการพัฒนาธุรกิจกาแฟให้มีศักยภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกาแฟในพื้นที่ต่อไป
ทั้งนี้ กสอ. ได้ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกาแฟในพื้นที่ได้วางเป้าหมาย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในรูปแบบคลัสเตอร์ในจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ร่วมกัน จัดทำแผนแม่บท (Master Plan) ตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป และการจัดจำหน่าย โดยแบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
1. การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตกาแฟของผู้ปลูกกาแฟ โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น มาสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อส่งเสริมให้ผู้ปลูกยื่นขอรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) หรือ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์
2. การส่งเสริมการแปรรูปกาแฟ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟ เพื่อการลดต้นทุน ลดของเสีย เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต รวมถึงวางมาตรฐานการจัดเก็บเมล็ดกาแฟ โรงคั่วกาแฟ และผู้ควบคุมการผลิตในกระบวนการคั่วกาแฟ
3. ส่งเสริมผู้จัดจำหน่ายให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจกาแฟ ทั้งในด้าน การพัฒนาตลาด ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกาแฟ การสร้างศักยภาพของตลาด และขยายช่องทางการจัดจำหน่าย รวมทั้งส่งเสริมวิชาชีพบาริสต้า
4. การส่งเสริมสร้างให้เกิดการรับรู้ภาพลักษณ์ของเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางเมืองกาแฟ
สำหรับกลยุทธ์ดังกล่าวยังได้นำมาสู่การดำเนินงานร่วมกับกลุ่มคลัสเตอร์เชียงใหม่เมืองกาแฟ อย่างเช่น บริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด (ชาวไทยภูเขา) และเครือข่ายผู้ประกอบการ ในพื้นที่เชียงใหม่ ภายใต้การทำงานของศูนย์การเรียนรู้ที่ได้ดำเนินการร่วมกับ กสอ. โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ ในการคัดกรองเกษตรกรและผู้ที่สนใจในธุรกิจกาแฟเข้ามาเรียนรู้การปลูกและกระบวนการแปรรูป ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตามมาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเพิ่มพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกกาแฟ แบบออร์แกนิก (Organic) ร่วมกับชุมชนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก โดยกาแฟออร์แกนิกสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าเมล็ดกาแฟทั่วไป ซึ่งพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีความเหมาะสมในการเพาะปลูกกาแฟ เนื่องจากที่ผ่านมามีการส่งเสริมปลูกกาแฟที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับการดูแลผืนป่า ซึ่งจะนำไปสู่การทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (Sustainable Agriculture) ต่อไปในอนาคต นายกอบชัย กล่าว