กระทรวงสาธารณสุข คาดสถานการณ์โควิด 19 ยังสูงต่อเนื่องอีก 2-6 สัปดาห์ ก่อนทรงตัวและเริ่มลดลง เพิ่มการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านแบบสมัครใจ สำหรับกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ไม่มีความเสี่ยง ซึ่งหายเองได้ โดยให้ยารักษาตามอาการ เริ่ม 1 มีนาคมนี้ ส่วน HI/CI ยังคงมีเหมือนเดิม ยืนยันมีเตียงและยาเพียงพอรองรับกลุ่มอาการรุนแรง
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานคณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล กรมการแพทย์ และ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงสถานการณ์โควิด 19 แนวทางควบคุมป้องกันและการรักษาพยาบาล
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค ทำให้ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย แต่ยังเป็นสัดส่วนที่ลดลง โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง และยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จึงขอให้ประชาชนยังต้องเข้มมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลาและฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยปอดอักเสบประมาณ 1 พันกว่าราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 400-500 ราย ต่ำกว่าช่วงสายพันธุ์เดลตาที่ผู้ป่วยปอดอักเสบประมาณ 6-7 พันราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 1,300 ราย ระบบสาธารณสุขจึงสามารถรองรับได้ โดยขณะนี้เตียงทั่วประเทศใช้ไปประมาณ 59% ส่วนใหญ่เป็นเตียงระดับ 1 สำหรับผู้มีอาการน้อย ส่วนเตียงระดับ 2 และ 3 ใช้ประมาณ 20% เท่านั้น ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ สำรองไว้ทั่วประเทศ 16.9 ล้านเม็ด ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตได้อีก 63.8 ล้านเม็ด รวมถึงสั่งซื้อเพิ่มเติมด้วย รวมทั้งสิ้น 87.6 ล้านเม็ด วันนี้ส่งไปพื้นที่แล้ว 5 ล้านเม็ด และวันที่ 1 มีนาคม จะส่งเพิ่มอีก 15 ล้านเม็ด พร้อมทั้งเพิ่มบริการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด 19 แบบผู้ป่วยนอกสำหรับผู้สมัครใจ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น
นพ.โอภาส กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยขณะนี้เป็นสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด ซึ่งในทวีปยุโรปและอเมริกาพบการระบาดมากในช่วง 1-2 เดือน จากนั้นจะเริ่มลดลง ดังนั้น จึงคาดว่าประเทศไทยจะยังมีผู้ป่วยสูงขึ้นในช่วง 2-6 สัปดาห์นี้ ซึ่งสายพันธุ์โอมิครอนมักติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการทางจมูกและคอมากกว่า โดยผู้ติดเชื้อที่กำลังรักษา 2 แสนกว่าราย พบอาการปอดอักเสบเพียง 0.45% และใส่ท่อช่วยหายใจ 0.13% ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2 แพร่กระจายเร็วกว่า BA.1 เล็กน้อย แต่ความรุนแรงไม่ต่างกัน ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น ไตวายระยะสุดท้าย มะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น มาตรการป้องกันในขณะนี้จึงเน้น 3 เรื่อง คือ
1.วัคซีน ซึ่งแม้วัคซีนทุกชนิดจะป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนได้น้อยลง แต่ช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่พบว่าไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น ดังนั้น ต้องเร่งการฉีดเข็มกระตุ้น รวมถึงเร่งฉีดในเด็กที่พบการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นกว่า 10% ด้วย
2.มาตรการส่วนบุคคล โดยเฉพาะมาตรการ VUCA
3.การปฏิบัติตนเมื่อเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง โดยใช้หลัก 7+3 คือ กักตัวที่บ้าน 7 วัน หลีกเลี่ยงพบคนให้มากที่สุด ตรวจ ATK วันที่ 5-6 หากเป็นลบ ออกจากบ้านได้ แต่หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่น การไปที่สาธารณะ และการใช้ขนส่งสาธารณะอีก 3 วัน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอน 90% ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง จึงปรับรูปแบบการดูแลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยหากมีอาการทางเดินหายใจหรือประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง เมื่อตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากผลเป็นลบให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT หากผลเป็นบวก สามารถโทร 1330 ซึ่ง สปสช.จะมีการเพิ่ม Robot Screening ช่วยคัดกรอง หรือไปรับบริการที่คลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) หรือคลินิกสงสัยผู้ติดเชื้อ (PUI) ที่มีในทุกโรงพยาบาล หรือโทรติดต่อโรงพยาบาลที่มีสิทธิการรักษาเพื่อประเมิน หากมีภาวะเสี่ยง คือ เป็นกลุ่ม 608 มีโรคประจำตัว แต่อาการไม่มาก จะให้เข้าระบบ HI/CI, Hotel Isolation และฮอสปิเทล แต่หากมีภาวะเสี่ยงและอาการรุนแรงจะส่งรับการรักษาในโรงพยาบาล
ส่วนกลุ่มที่ไม่มีภาวะเสี่ยง สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวเองที่บ้าน ซึ่งคล้ายกับการรักษาระบบ HI คือ มีการแยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ โทรติดตามอาการ โดย HI จะโทรติดตามทุกวัน และมีอุปกรณ์ตรวจประเมินให้ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด รวมถึงอาหาร แต่กรณีผู้ป่วยนอกเนื่องจากไม่มีความเสี่ยง จึงไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมินและอาหารให้ และจะโทรติดตามอาการครั้งเดียวเมื่อครบ 48 ชั่วโมง แต่ทุกรูปแบบจะมีช่องทางให้ประชาชนสามารถติดต่อกลับได้ และมีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง
นพ.ทวี กล่าวว่า แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 มีการปรับปรุงมาเป็นระยะตามข้อมูลทางวิชาการที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันเป็นฉบับที่ 20 แบ่งการรักษาผู้ติดเชื้อเข้าข่ายที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก 4 กลุ่ม คือ
1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมากๆ กลุ่มนี้จะหายเองได้ ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอกโดยแยกกักตัวที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อลดความเสี่ยงรับผลข้างเคียงจากยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และกระทบต่อตัวอ่อนในครรภ์
2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/ไม่มีโรคร่วมสำคัญ แพทย์จะพิจารณาว่าจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หากกำลังใช้ฟ้าทะลายโจรจะต้องหยุดฟ้าทะลายโจรก่อน
3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ
4.ผู้ป่วยที่มีโรครุนแรงมาก สองกลุ่มนี้แพทย์จะพิจารณารับการรักษาในโรงพยาบาล และพิจารณาให้ยารักษาที่มียาชนิดตามความเหมาะสม
******************* 28 กุมภาพันธ์ 2565