กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มงวดผู้ดูแลระบบประปาหมู่บ้านในการเติมคลอรีนฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา เพื่อให้มีน้ำประปาที่สะอาด เพียงพอ บริการแก่ประชาชนในเขตชนบทอย่างเท่าเทียม
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันน้ำโลก” หรือ “World Day for Water” ในปีนี้ได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ในระดับโลก คือ “Leaving no one behind : เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกเกิดความตื่นตัว เรื่องการบำรุงรักษา อนุรักษ์ พัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการสุ่มตรวจคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านในปี 2561 จำนวน 445 แห่ง พบว่า คุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปา ดื่มได้กรมอนามัย เพียงร้อยละ 19.1 ส่วนมากจะปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียและฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย บ่งบอกว่าน้ำประปาหมู่บ้านมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคสูง สาเหตุมาจากไม่มีการเติมคลอรีนฆ่าเชื้อโรค นอกจากนี้ ในหน้าร้อนที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีขึ้นประกอบกับคลอรีนอิสระที่หลงเหลือในน้ำประปาก็สามารถสลายตัวได้ง่ายขึ้น อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินอาหารที่มาจากน้ำไม่สะอาด กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มงวดผู้ดูแลระบบประปาหมู่บ้านในการเติมคลอรีนฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา เพื่อให้มีน้ำประปาที่สะอาด เพียงพอ บริการแก่ประชาชนในเขตชนบทอย่างเท่าเทียมกับประชาชนในเขตเมือง รวมทั้งยังเป็นการร่วมกันรณรงค์ เนื่องในวันน้ำโลกอีกด้วย
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า คุณภาพน้ำประปานอกจากจะต้องได้มาตรฐานตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปา ดื่มได้ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกแล้ว น้ำประปาควรมีคลอรีนอิสระหลงเหลืออยู่ 0.2 – 0.5 ส่วนในล้านส่วนหรือมิลลิกรัมต่อลิตร จึงจะสามารถป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ ทั้งนี้ ประชาชนที่บริโภคน้ำประปาในช่วงหน้าร้อนอาจจะได้กลิ่นคลอรีนแรงมากขึ้น อาจจะจะตั้งทิ้งไว้ก่อนประมาณ 30 นาทีเพื่อให้คลอรีนระเหยไปหรืออาจจะใช้เครื่องกรองที่มีถ่านกัมมันต์หรือ Activated carbon เป็นสารกรองเพื่อกำจัดคลอรีนในน้ำประปาก่อนนำมาบริโภคในครัวเรือนก็ได้ และในกรณีที่จำเป็นต้องนำขวดพลาสติกเก่ามาใช้ก็ควรทำความสะอาดให้ทั่วถึงและต้องสังเกตลักษณะของขวด หากมีรอยชำรุด รั่ว แตกร้าว บุบ ก็ไม่ควรนำมาใช้ หรือหากเป็นขวดที่มีการปนเปื้อนดินก็ควรหลีกเลี่ยงในการนำมาใช้ซ้ำเช่นกัน ซึ่งในปี 2561 กรมอนามัยได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวด ขนาด 20 ลิตรในครัวเรือน เพื่อตรวจสอบคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ พบผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 53.42 โดยส่วนใหญ่มีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียและฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย แสดงว่ามีความเสี่ยงที่น้ำดื่มบรรจุภาชนะดังกล่าวจะเกิดการปนเปื้อน ซึ่งการดูแลรักษาความสะอาดภาชนะก็มีส่วนที่ทำให้น้ำดื่มมีความสะอาดปลอดภัย ประชาชนจึงควรให้ความสำคัญ นอกจากนี้ ต้องระวังการขัดถูเพื่อล้างทำความสะอาดภาชนะพลาสติกอาจทำให้เกิดรอยขูดขีดหรือการบุบชำรุดของขวดที่เกิดจากการนำมาใช้ซ้ำ หรือหากขวดน้ำตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความร้อนหรือได้รับแสงแดดอาจทำให้สารเคมีจากขวดพลาสติกปนเปื้อนลงในน้ำที่อยู่ในขวดได้
“ทั้งนี้ สำหรับในพื้นที่ทุรกันดารที่ขาดแคลนน้ำสะอาด ก่อนนำมาดื่มควรต้มให้เดือดอย่างน้อย 1-2 นาที เก็บในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด ส่วนการนำน้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำผิวดินแหล่งอื่น ๆ มาใช้โดยตรง ควรปรับปรุงคุณภาพน้ำและฆ่าเชื้อโรคก่อน ด้วยการแกว่งสารส้มชนิดก้อนในน้ำและให้สังเกตตะกอนในน้ำ หากเริ่มจับตัวให้ตั้งทิ้งไว้จนตกตะกอน แล้วนำเฉพาะน้ำใสมาฆ่าเชื้อโรคโดยใช้หยดทิพย์ อ.32 ของกรมอนามัย ซึ่งเป็นสารละลายคลอรีนชนิดเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วน 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร ปล่อยไว้ให้มีระยะเวลาฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อย 30 นาที ก่อนนำไปใช้จะช่วยป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำ ที่สำคัญควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกรอง รองหรือตักน้ำใส่ภาชนะบรรจุ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์จากมือที่ไม่สะอาด ช่วยให้ประชาชนได้บริโภคน้ำที่สะอาด ปลอดภัย เป็นการป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ