“5 ภาคีจับมือ พัฒนานวัตกรรม สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูก ยับยั้งโควิด-19 เตรียมเดินหน้าศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัคร – คาดออกสู่ตลาดไตรมาส 3 ปีนี้”

5 ภาคีรัฐ-เอกชน เซ็น MOU ผนึกกำลังพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูก ป้องกันโควิด-19 เตรียมเดินหน้าศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัคร วางเป้าผลิตให้คนไทยได้ใช้อย่างทั่วถึง

5 ภาคีเครือข่ายจากภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และนาวาโทแพทย์หญิงภาพร ประสิทธิ์ดำรง กรรมการบริษัทไฮไบโอไซ จำกัด เป็นตัวแทนร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนานวัตกรรม “สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด-19” โดยการผนึกกำลังครั้งสำคัญนี้ เพื่อผลักดันงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไทยสู่ระดับโลก นวัตกรรม “สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด -19” ได้ผ่านการทดสอบเบื้องต้นในสัตว์ทดลองได้ผลเป็นที่น่าพอใจและเตรียมเดินหน้าสู่การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครภายในไตรมาสแรกของปีนี้ จากนั้นนำผลการศึกษายื่นขอขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประมาณเดือนมิถุนายน 2565 คาดออกสู่ตลาดเพื่อให้ประชาชนไทยได้เข้าถึงนวัตกรรมสุขภาพอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ประมาณไตรมาส 3 ของปี 2565

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกับคณะต่างๆ เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์สำคัญระดับประเทศต่างๆ เช่น การพัฒนาวัคซีน ChulaCov 19, ชุดตรวจเชื้อ, เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น องค์กรมีความยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะนำองค์ความรู้จากการทำวิจัย โดยทีมนักวิจัยแพทย์จุฬาฯ คือการพัฒนาแอนติบอดีที่มีคุณสมบัติยั้บยั้งเชื้อโควิด-19 ได้อย่างจำเพาะและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งทีมนักวิจัยได้บ่มเพาะและพัฒนามาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาด โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาคประชาชน และภาครัฐ คือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทั่งสามารถพัฒนาแอนติบอดีต้นแบบได้และได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย และมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ไปสู่ภาคเอกชนเพื่อนำไปต่อยอด ในการทำการวิจัยทางคลินิก เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่น่าจะมีส่วนช่วยป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19

อีกทั้งในขณะนี้ มีความร่วมมือของหน่วยงานภาคเอกชน ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของนวัตกรรมดังกล่าว ดำเนินการรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากการทำวิจัยนี้เพื่อทำการวิจัยทางคลินิกต่อ และพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด-19 โดยหน่วยงานที่มาร่วมมือในครั้งนี้จะทำการวิจัยทางคลินิก และผลิตให้ได้ตามมาตรฐานเพื่อขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์นี้อย่างมั่นใจ และเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะมาช่วยรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ต่อไป

“องค์ความรู้จากการวิจัยและความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะทำให้เกิดนวัตกรรมที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ และช่วยให้ประเทศไทยก้าวพ้นสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัย” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว

ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย ศ.ดร.ภญ.ปราณีต โอปณะโสภิต พร้อมด้วย รศ.ดร.ภก.ประสพชัย พัฒน์โรจนโสภณ และคณะทำงาน คณะเภสัชศาสตร์ ได้ร่วมศึกษาวิจัยกับทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสเปรย์แอนติบอดีสำหรับพ่นจมูกเพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งจากผลการทดลองเบื้องต้นในระดับห้องปฏิบัติการและการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง แอนติบอดีพ่นจมูกที่พัฒนาขึ้นมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การวิจัยและพัฒนา และความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะทำให้เกิดนวัตกรรมด้านสุขภาพสำหรับคนไทย เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้

ด้านนพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า นวัตกรรม “สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด-19” ที่กำลังจะถูกพัฒนาขึ้นมาและมีการศึกษาประสิทธิภาพในมนุษย์นั้น เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยที่สวรส.ได้ให้การสนับสนุนในโครงการ “การพัฒนา Monoclonal antibody cocktail ต่อเชื้อ SAR-CoV-2 จากผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายจากโรค” พร้อมกันนี้ สวรส. ยังได้สนับสนุนทุนวิจัยด้านนวัตกรรมสุขภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อเติมเต็มความมั่นคงด้านสุขภาพ ทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทยอย่างเท่าเทียม ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพของประเทศไทย

“การสนับสนุนทุนการวิจัยด้านนวัตกรรมสุขภาพ สวรส. ครั้งนี้นับว่าเป็นอีกครั้งสำคัญในการพัฒนางานวิจัยต่อยอดนวัตกรรมสุขภาพเชิงพาณิชย์ บนความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน และยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการวิจัยทางคลินิก พร้อมยกระดับสร้างความเชื่อมั่นงานวิจัยให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” นายแพทย์นพพร กล่าว

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมเป็นองค์กรหลักในการผลิตและจัดหายาและเวชภัณฑ์ในสถานการณ์โควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง และมุ่งส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นนวัตกรรมสามารถผลิตขึ้นใช้ได้เองในประเทศด้วยความเชี่ยวชาญในการผลิตยาและเวชภัณฑ์ ที่มีมาตรฐานยอมรับในระดับสากล องค์การเภสัชกรรมได้เข้ามามีบทบาทในการผลิต ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม“สเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิด-19” สำหรับนำไปใช้ในการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัคร เพื่อศึกษาถึงประสิทธิผลและความปลอดภัย เป็นข้อมูลในการยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต่อไป

ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้ง 5 หน่วยงานครั้งนี้ นับเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของความร่วมมือที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมสุขภาพในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพคนไทย พร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

นาวาโทแพทย์หญิงภาพร ประสิทธิ์ดำรง กรรมการ บริษัทไฮไบโอไซ จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลามากกว่า 2 ปี ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 อุบัติขึ้น และระบาดจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งต่อเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก มาตรการด้านสาธารณสุข และการส่งเสริมให้คนได้รับวัคซีน เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยลดอัตราการติดเชื้อ รวมถึงอัตราการเสียชีวิตของประชาชนในแต่ละประเทศ แต่ทว่า ยังมีกลุ่มคนอีกมากที่สร้างภูมิจากวัคซีนได้ไม่ดี หรือภูมิที่มีอยู่ไม่ได้นาน ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้

“บริษัท ไฮไบโอไซ จำกัด มีความตั้งใจที่จะผลักดันนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูกที่มีแอนติบอดีจากมนุษย์ที่จำเพาะต่อเชื้อโควิด-19 ที่คิดค้นโดยแพทย์ไทย ซึ่งตอบโจทย์เรื่องการเสริมภูมิคุ้มกันที่โพรงจมูกซึ่งเป็นด่านหน้าที่จะดักจับเชื้อโควิดไม่ให้เข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยมุ่งที่จะพัฒนานวัตกรรมนี้จนเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมของคนไทย เพื่อคนไทย โดยจะเตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ภายในไตรมาสแรก และ ขยายผลในการจัดจำหน่ายให้เข้าถึงคนไทยภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพของประเทศ นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังมีแผนในการขยายผลสู่ตลาดในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้นวัตกรรมไทยสู่เวทีโลกอีกด้วย” พญ.ภาพร กล่าว

ทั้งนี้ ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้ง 5 หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การคิดค้นพัฒนานวัตกรรมแอนติบอดี้ที่มีคุณสมบัติจำเพาะเพื่อป้องกันโควิด-19 การสนับสนุนทุนให้เกิดการพัฒนาวิจัยต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสเปรย์ที่มีประสิทธิผลและสะดวกในการใช้ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต้นแบบ และออกสู่ตลาดเพื่อการนำไปใช้ได้จริง นับเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของความร่วมมือที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมสุขภาพต้นแบบในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพคนไทยเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

28 กุมภาพันธ์ 2565

********************