สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : อัญชัน บำรุงผมและดวงตา

อัญชัน เป็นสมุนไพรอีกชนิดที่แทบจะไม่มีใคร ที่ไม่รู้จัก เกือบทุกบ้านจะมีดอกอัญชันปลูกติดไว้ ไม่ว่าจะดอกสีม่วง สีขาว ประสบการณ์หมอพื้นบ้านจะใช้ อัญชันดอกสีขาวเอาไว้แก้พิษ ทั้งพิษงู พิษหมาบ้า ถึงขนาดมีความเชื่อว่า เอารากผูกแขนไว้กันงูเวลาเข้าป่า และใช้รากฝนกินแก้พิษต่างๆ ส่วนอัญชันดอกสีม่วง(หมอยาบางท่านเรียกอัญชันดอกเขียว) เอาไว้เขียนคิ้วกับขยี้ทาหัวให้หลานที่เกิดใหม่ๆ ซึ่งเป็นประเพณีของคนไทยทุกภาคทั้งเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ตะวันออก ตะวันตก อัญชันดอกม่วงยังเด่นในด้านการแก้ฟกช้ำ ใบของอัญชันทั้งสองชนิดเป็นยาเย็น ใช้เป็นส่วนประกอบของยาเขียว

ส่วนใหญ่ จะนิยมใช้อัญชันดอกสีม่วงมากว่าดอกสีขาว ตั้งแต่การใช้ทำยา เครื่องสำอาง คั้นหมักผม ผสมอาหาร ขนม ดอก ยอดอ่อน ฝักอ่อน ของทั้งสองชนิด นิยมเอามากินเป็นผัก ได้ทั้งสดหรือลวก ป้าบุญทัน โสมศรีแก้ว เล่าว่า สมัยก่อนในครัวของตระกูลท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะนำดอกอัญชันมาทำอาหารหวานคาวหลายอย่าง ตั้งแต่กินเป็นผักสด ผักลวก ผักชุบแป้งทอด ทำขนมชั้น และแต่งสีในขนมต่างๆ คล้ายกับทางภาคใต้

มีการศึกษาวิจัยประโยชน์ของอัญชันต่อการงอกของเส้นผมพบว่า สารสกัดเอทานอลจากดอกอัญชันมีฤทธิ์ยับยั้ง5-อัลฟา-รีดักเทส(5-alpha-reductase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ยับยั้งการเจริญของเส้นขน และมีฤทธิ์กระตุ้นการงอกของเส้นขนของหนู แม้จะยังไม่มีการวิจัยอื่นๆ มากนัก แต่เท่านี้ก็พอจะยืนยันได้ว่าการใช้ตามภูมิปัญญานี้มีเหตุผลสนับสนุนในทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้สารแอนโธไซยานิน(anthocyanins) ที่มีในดอกอัญชัน ยังช่วยให้หลอดเลือดเล็กๆ แข็งแรงและไหลเวียนได้ดีขึ้น อันเป็นการช่วยให้คิ้วและผมงอกได้เร็วอีกทางหนึ่ง อัญชันจึงเป็นสมุนไพรที่ควรค่าแก่การนำมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางสำหรับผมและคิ้ว

นอกจากประโยชน์ในการดูแลเส้นผมแล้ว อัญชัน ยังโดดเด่นนการบำรุงสายตา มีการศึกษาสมัยใหม่ที่พบว่า ในพืชหลายชนิดรวมทั้งอัญชันดอกม่วงมีสารแอนโธไซยานิน(anthocyanins) ที่จัดอยู่ในกลุ่มสารฟลาโวนอยด์ เป็นสารให้สีตามธรรมชาติที่ละลายน้ำได้ และเปลี่ยนสีไปตามสภาวะความเป็นกรด-ด่าง ตั้งแต่น้ำเงิน ม่วง แดง ไปจนถึงส้ม ชนิดที่พบในกลีบดอกอัญชันสีม่วงมีชื่อว่า เทอร์นาทิน (ternatins) ซึ่งเป็นสารสีน้ำเงิน ตรงกับรากศัพท์เดิมของ แอนโธไซยานิน ซึ่งหมายถึง ดอกไม้สีน้ำเงิน นั่นเอง สารแอนโธไซยานินมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถจับกับอนุมูลอิสระที่เกิดจากรังสียูวีและทำให้หมดฤทธิ์ และมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารแอนโธไซยานินในการเพิ่มประสิทธิภาพของตา เช่น ป้องกันตาเสื่อมจากโรคเบาหวาน โรคต้อหิน โรคต้อกระจก

แอนโธไซยานินยังมีฤทธิ์กระตุ้นกลไกอื่นๆ ที่ส่งผลดีต่อดวงตาคือ ยับยั้งการลดจำนวนของสารสีม่วงที่มีชื่อว่า โรดอปซิน(rhodopsin) ในเซลล์รูปแท่งที่จอประสาทตา ซึ่งมีความไวต่อแสงและช่วยการมองเห็นในที่มืดยับยั้งการหลั่งสารอินเตอร์ลูคิน-6(interleukin-6; IL-6) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบ ในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้ผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ เพิ่มปริมาณการไหลเวียนเลือดไปหล่อเลี้ยงจอตาในผู้ป่วยโรคต้อหิน ช่วยให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดเล็กๆ คลายตัว ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงเซลล์ตาดีขึ้น จึงเพิ่มความสามารถในการมองเห็นและชะลอความเสื่อมของดวงตาได้

ตัวอย่างตำรับยา

ตำรับชะลอผมหงอก: เอาเปลือกมะกรูด 50 ลูก ดอกอัญชัน 100 ดอก หรือมากกว่านั้น แยกกันแช่ในเหล้าขาว 28 ดีกรี ให้ท่วม หมักไว้ 1 เดือน ครบกำหนด นำน้ำหมักทั้งสองชนิดเทใส่ในโถปั่นใส่ว่านหาง 1 กาบ (เอาแต่วุ้น) ปั่นรวมกัน กรองกากเก็บไว้ในตู้เย็น เวลาใช้นำมาหมักผมก่อนสระ หมักนานแค่ไหนก็ได้ หมักทุกวันยิ่งดี ทำให้ ผมดกดำ ไม่ร่วง ไม่คัน

บำรุงสายตา/เบาหวานขึ้นตา: ดอกอัญชัน 2-3 ดอก ต้มน้ำดื่ม วันละ 1-2 แก้ว เป็นประจำทุกวัน

ข้อควรระวัง
1. มีรายงานว่าดอกอัญชันมีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด จึงไม่ควรกินอัญชันร่วมกับผลิตภัณฑ์ต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน(aspirin) วาฟาริน(warfarin) เป็นต้น เนื่องจากอาจมีผลเสริมฤทธิ์กันจนเกิดอันตรายได้

  1. ไม่ควรกินเข้มข้นเกินไป (ไม่ดื่มต่างน้ำ)
  2. ควรระมัดระวังในผู้ที่มีอาการแพ้ดอกไม้ชนิดต่างๆ โดยหมั่นสังเกตตนเอง หากใช้ผลิตภัณฑ์ใดแล้วก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ให้หยุดใช้ทันที
  3. ตำราอายุรเวทกล่าวว่า อัญชันสามารถเกิดอันตรกิริยากับยาต้านซึมเศร้า ยาต้านโรคจิต (antipsychotics) และยากันชัก

ติดตามอภัยภูเบศร

YouTube : อภัยภูเบศร

Line @abhai_herb

ปรึกษาหมอออนไลน์ https://lin.ee/HGT0wkz

………

ข้อมูลอ้างอิง

– Mukherjee, P. K., Kumar, V., Kumar, N. S. et al. The Ayurvedic medicine Clitoria ternatae  from traditional use to scientific assessment. Journal of Ethnopharmacology 120 (2008): 291-301

– Tsuda, T. Dietary anthocyanin-rich plants: biochemical basis and recent progress in health benefits studies. Molecular Nutrition & Food Research 56 (2012): 159-170

– Hwang, J.-W., Kim, E.-U., Lee, S.-J. et al. Anthocyanin effectively scavenges free radicals and protects retinal cells from H2O2-triggered G2/M arrest. European Food Research and Technology 234 (2012): 431-439

– Miyake, S., Takahashi, N., Sasaki, M. et al. Vision preservation during retinal inflammation by anthocyanin-rich bilberry extract: cellular and molecular mechanism. Laboratory Investigation 92 (2012): 102-109