กรมอนามัย แนะ วิธีเก็บน้ำฝน ลดการปนเปื้อน ต้มเดือดก่อนดื่ม

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีเก็บน้ำฝนให้ปลอดภัย ย้ำ พื้นที่เสี่ยงใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เลี่ยงเก็บน้ำฝน หากจำเป็นควรทำความสะอาดรางรับน้ำฝน และภาชนะเก็บกักน้ำฝน ให้พร้อมใช้งาน เพื่อความปลอดภัย ก่อนนำมาดื่มควรฆ่าเชื้อโรคเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคติดต่อจากน้ำ

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้มีฝนตกในหลายพื้นที่ ส่งผลให้พื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ ที่สะอาด จำเป็นต้องมีการเก็บน้ำฝน ไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี เพราะน้ำฝนจัดว่าเป็นน้ำที่สะอาด แต่ก็สามารถเกิดสิ่งสกปรกได้ง่าย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของสถานที่ตั้งบ้านเรือน โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม การจราจรหนาแน่น หรือมีมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM. 2.5 ควัน หรือก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง รวมทั้งความสะอาดหลังคาที่รองรับน้ำฝน และภาชนะเก็บกักน้ำฝน ซึ่งจากข้อมูลการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคครัวเรือนของกรมอนามัย พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคุณภาพน้ำฝนในครัวเรือนทั่วประเทศผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำบริโภค สาเหตุสำคัญที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมาจากการปนเปื้อนแบคทีเรีย เนื่องจากการดูแลความสะอาดของพื้นหลังคา รางรองรับน้ำฝน ภาชนะบรรจุน้ำฝน ไม่ถูกหลักการสุขาภิบาลน้ำบริโภค

“ทั้งนี้ วิธีการเก็บน้ำฝนไว้บริโภคหรืออุปโภคให้ปลอดภัย ควรเริ่มจากการสำรวจความพร้อมของรางรองรับน้ำฝน ทำความสะอาดเก็บกวาดสิ่งสกปรกบนหลังคา รางรองรับน้ำฝน ให้เรียบร้อย สำหรับภาชนะบรรจุน้ำฝน ควรสำรวจดูความชำรุด แตก รั่ว ต้องล้างภายนอกให้สะอาด โดยเฉพาะภายในต้องฆ่าเชื้อโรคด้วยการแช่หรือฉีดพ่นน้ำคลอรีนในขั้นตอนสุดท้ายของการล้างด้วย ส่วนการรองน้ำฝนนั้น ควรปล่อยให้ฝนตกชะล้างสิ่งสกปรกในอากาศ บนหลังคา และรางรับน้ำฝน ทิ้งไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยรองน้ำฝนใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ เมื่อเต็มแล้วปิดฝาภาชนะให้มิดชิด โดยใช้ตาข่ายพลาสติกปิดปากภาชนะให้แน่น ก่อนปิดฝาเพื่อป้องกันสัตว์หรือแมลง เช่น จิ้งจก แมลงสาบ เข้าไปอาศัย รวมทั้งดูแลที่ตั้งภาชนะเก็บน้ำฝนให้สะอาด ไม่เฉอะแฉะ ไม่ควรนำสิ่งของต่าง ๆ ไปวางหรือกองไว้บนภาชนะเก็บน้ำฝน เพราะจะเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ แมลงนำโรค หากเห็นว่าการจัดเก็บน้ำฝนไม่ถูกสุขลักษณะดังกล่าว ควรนำไปต้มให้เดือดประมาณ 1 นาทีหรือเติมคลอรีนฆ่าเชื้อโรคก่อนนำมาดื่ม เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***
กรมอนามัย / 24 กุมภาพันธ์ 2565