กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชี้ประโยชน์ของนวดไทยเป็นศาสตร์สากลที่ได้รับการยอมรับแล้วทั่วโลก โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่ถูกต้อง และการบาดเจ็บจากการทำงาน การใช้บริการนวดไทยสำหรับการรักษาโรคควรไปใช้บริการกับผู้ประกอบวิชาชีพการนวดไทยที่ผ่านการรับรองจากสภาการแพทย์ แผนไทย
นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะโฆษกกรม กล่าวว่า ศาสตร์การนวดไทย เป็นการนวดเพื่อการรักษา และการฟื้นฟูร่างกาย แต่ทั้งนี้ ผู้ให้บริการนวด ต้องเป็นหมอที่ได้รับ ใบประกอบวิชาชีพและผ่านการรับรองจากสภาการแพทย์แผนไทย ซึ่งการนวดเพื่อการรักษานี้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ และเป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในสากลแต่การเข้าใช้บริการผู้ใช้ต้องพิจารณาหลายๆอย่างเช่น สถานบริการได้รับการรับรองมาตรฐานหรือไม่ ผู้ให้บริการได้รับใบประกอบโรคศิลปะหรือใบประกอบวิชาชีพหรือไม่ การนวดรักษาเป็นการนวดเพื่อเพิ่ม การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อลดความตึงตัวลง ทำให้คลายจุดปวดเมื่อยได้เป็นอย่างดี ทำให้การไหลเวียนของโลหิตและน้ำเหลืองดีขึ้น
ด้าน นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวหญิงสาวรายหนึ่ง ไปรับการรักษาอาการเส้นพลิก ในสถานที่แห่งหนึ่ง จังหวัดระยอง และไม่ได้ใช้วิธีการบีบนวดตามหลักแพทย์แผนไทย จึงขอแจ้งให้ทราบว่า การนวดดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์แผนไทยซึ่งการนวดไทยสามารถใช้บำบัดรักษาอาการ ปวดศีรษะจากความเครียด ปวดต้นคอ ปวดบ่า – ไหล่จากการทำงาน เคล็ดกล้ามเนื้อทั่วไป ปวดหลังปวดเอวจากการทำงาน ปวดขัดยอกสะโพก ปวดแขนจากการทำงาน ปวดข้อศอกข้อมือจากการทำงานหรือการออกกำลังกาย เคล็ดขัดยอก ปวดขาจากการทำงาน ยืน เดินมาก ปวดเข่า แต่ไม่ใช่อาการข้ออักเสบจากการติดเชื้อ และปวดข้อเท้า ข้อเท้าแพลง แต่ไม่มีการบวมอักเสบ ไหล่ติด และนิ้วไกปืน การนวดมีจุดมีเส้นเฉพาะ อาการปวดขาส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากหลัง การรักษา ต้องกระทำโดยแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง อาจมีผู้ช่วยแพทย์แผนไทยช่วยนวดพื้นฐานได้ การนวดรักษามีการนวดเส้นพื้นฐาน มีจุดนวดที่ใช้รักษาโรค ซึ่งเป็นสูตรการนวดในการรักษาแต่ละโรคแตกต่างกันไป กรณีปวดขา จะมีการนวดพื้นฐานขา พื้นฐานหลัง พื้นฐานขาด้านใน และมีชุดจุดการนวด หลัง สะโพก และขาด้านใน อาจมีการดัดดึงได้แต่ต้องระมัดระวัง ไม่มีการกระชากขา ซึ่งอาจทำให้เส้นยึดหดเกร็งจากการกระชากได้ เป็นต้น
เมื่อเข้าไปใช้บริการในสถานพยาบาล ผู้ให้บริการจะมีการประเมินการเจ็บป่วยเบื้องต้น โดยซักถามประวัติการเจ็บป่วย ผู้ป่วยต้องมีสัญญาณชีพคงที่ เช่น ไม่มีไข้ ชีพจรปกติ ความดันเลือดปกติและไม่มีอาการหรือโรค ดังต่อไปนี้ กล้ามเนื้อบวมแดงร้อน กระดูกแตกหัก กระดูกเคลื่อน ปริ ร้าว โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคผิวหนังมีแผลเปิดเรื้อรัง โรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ โรคมะเร็ง แผลหลังผ่าตัดยังไม่หายสนิท หลอดเลือดดำอักเสบ โดยโรคที่กล่าวมาเป็นอันตรายต่อการนวดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยเป็นอย่างยิ่ง ผู้รับและผู้ให้บริการควรพึงระวังในอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวด้วย
จากนั้นจึงให้บริการนวดตามหลักการแพทย์แผนไทย คือ นวดเส้นพื้นฐานเพื่อคลายกล้ามเนื้อ กดจุดสัญญาณเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นๆ อาจมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เช่น การทำท่ากายบริหารด้วยฤาษีดัดตน โยคะ มณีเวช ซึ่งทำให้เลือดลมไหลเวียนดียิ่งขึ้น อาการปวดต่างๆจะทุเลาลง การปฏิบัติตัวหลังการนวด ห้ามรับประทานอาหารแสลง เช่น หน่อไม้ เครื่องในสัตว์
ทั้งนี้ถ้ามีความประสงค์จะใช้บริการนวดเพื่อการบำบัดรักษาอาการโรค ควรใช้บริการในสถานพยาบาลคลินิกที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แผนไทยผู้เชี่ยวชาญ หรือถ้ามีข้อสงสัยสามารถสอบถามทางสำนักงานสาธารณสุขในจังหวัดนั้นๆ หรือสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เบอร์โทร 02 590 2606