กรม อ. ห่วงเด็กเล็กเสี่ยงโควิด-19 จากครอบครัว เผย หากพบติดเชื้อ ให้พ่อแม่สังเกตอาการใกล้ชิด

​วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นายแพทย์ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย แถลงข่าว “ดูแลป้องกันอย่างไร เมื่อเด็กปฐมวัย ติดเชื้อโควิด-19”

นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ข้อมูลรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในกลุ่มเด็กอายุ 0-5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ถึง 17 กุมภาพันธ์ 2565 ประเทศไทยมีจำนวน เด็กปฐมวัยติดเชื้อสะสม 107,059 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 29 ราย โดยรายกลุ่มย่อยทุก 1 ปี มีจำนวนการติดเชื้อ อยู่ในระดับมากกว่า 2 หมื่นราย แต่จะพบสูงกว่าในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี แสดงให้เห็นว่า กลุ่มเด็กเล็กน้อยกว่า 2 ปี โดยเฉพาะ 0-1 ปี เป็นกลุ่มที่ติดเชื้อง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากเด็กไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ อีกทั้งยังไม่มีวัคซีน สำหรับเด็กเล็กมาก ๆ ด้วย

ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่ มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ในครอบครัว และด้วยธรรมชาติของเด็กวัยนี้ที่ไม่สามารถป้องกันโรคด้วยตัวเองได้ดีพอ ส่งผลให้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งผลสำรวจอนามัยโพลในช่วงการระบาดที่ผ่านมา เกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ของคนในครอบครัวที่มาจากนอกบ้าน พบว่า ไม่ได้มีการประเมินความเสี่ยงถึงร้อยละ 72 นอกจากนี้ ผลการสำรวจอนามัยโพลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคเมื่ออยู่ที่บ้าน พบว่า พฤติกรรมที่ทำได้ดี เกือบร้อยละ 50 คือ การใช้อุปกรณ์ส่วนตัวแยกกับผู้อื่น รวมถึงการทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จับร่วมกัน ร้อยละ 45 และพฤติกรรม การไม่กินอาหารร่วมกัน ร้อยละ 42

“สำหรับมาตรการป้องกันโรคเมื่ออยู่ที่บ้านที่ทำได้ยากนั้น พบว่า ส่วนใหญ่เป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ เช่น ประเด็นการสวมหน้ากากในบ้าน ข้อจำกัดที่พบคือ รู้สึกไม่ชิน อึดอัด หายใจไม่สะดวก และมั่นใจว่าในบ้านไม่มีเชื้อ ส่วนประเด็นการเว้นระยะห่าง ข้อจำกัดคือ เนื้อที่ในบ้านมีจำกัด รวมทั้งคิดว่าครอบครัวไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง และการกินอาหารร่วมกันนั้น ข้อจำกัดคือ อาหารอาจไม่พอถ้าต้องแยกกันกิน หรือกินพร้อมกันจะประหยัดกว่า ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ เป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ส่งผลให้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อในเด็กเล็กที่เกิดจากคนในครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งผู้ดูแลเด็ก ควรสอนให้เด็ก รู้จักวิธีล้างมือที่ถูกต้อง โดยเฉพาะก่อนและหลังกินอาหาร ส่วนเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย เพราะเด็กอาจช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กรณีที่เด็กหายใจไม่ออกจากการสวมหน้ากาก หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปในสถานที่ ที่มีผู้คนอยู่รวมกันมาก ๆ หรือมีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ป่วย รวมทั้งหมั่นทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวสัมผัสร่วมต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู ห้องน้ำ รวมถึงของเล่น พร้อมทั้งคอยหมั่นสังเกตดูแลสุขภาพเด็กอยู่เสมอด้วย ซึ่งกลุ่มเด็ก ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หรือ ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เพราะเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนัก ปอดอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลวง และอาจเสียชีวิตได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน นายแพทย์ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติในกรณีที่เด็กติดเชื้อโควิด-19 แบ่งได้ 3 กรณีคือ

1) กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อ และผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้เข้ารับการรักษา โดยเน้นให้จัดอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว

2) กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองไม่เป็นผู้ติดเชื้อ ให้เด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือ Hospitel โดยผู้ปกครองควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ มีอายุไม่เกิน 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว สามารถเข้าดูแลเด็กในสถานพยาบาลได้ แต่สำหรับโรงพยาบาลสนาม ควรจัดพื้นที่ให้เด็ก และผู้ปกครองเป็นการเฉพาะ โดยแยกจากผู้ติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อโรคได้

3) กรณีเด็ก ไม่เป็นผู้ติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้ญาติเป็นผู้ดูแล หากไม่มีญาติหรือผู้ดูแลเด็ก ให้ส่งเด็กไปยังบ้านพักเด็ก ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดูแล หรือพิจารณาใช้พื้นที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ในชุมชนเป็นที่ดูแลเด็ก

“ทั้งนี้ ระดับอาการของเด็กติดเชื้อโควิด-19 ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิดคือ แบบที่ 1 อาการในระดับ ที่สามารถเฝ้าสังเกตที่บ้านได้ คือ มีไข้ต่ำ มีน้ำมูก มีอาการไอเล็กน้อย ไม่มีอาการหอบเหนื่อย ถ่ายเหลว ยังคงกินอาหารหรือนมได้ปกติ ไม่ซึม แบบที่ 2 อาการที่ผู้ปกครองควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว คือ มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ ใช้แรงในการหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ ซึมลง ไม่ดูดนม และไม่กินอาหาร ซึ่งอุปกรณ์เพื่อใช้ติดตามอาการของเด็ก ได้แก่ ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว อุปกรณ์ถ่ายภาพหรือกล้องวิดีโอ และยาสามัญประจำบ้าน

โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับเด็กที่ติดเชื้อ และให้ดูแลรักษาเด็กตามอาการ ถ้ามีไข้ ให้กินยาลดไข้ และเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ถ้ามีอาการไอ มีน้ำมูก ให้กินยาแก้ไอ หรือยาดลน้ำมูกได้ และดื่มน้ำมาก ๆ แต่ถ้ามีอาการถ่ายเหลว ให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ ซึ่งเทคนิคการดูแล เด็กติดเชื้อโควิด-19 เมื่อแยกกักตัวที่บ้าน ปฏิบัติได้ดังนี้

1) ชวนเด็กพูดคุยในประเด็นที่เด็กอาจมีคำถาม หรือความหวาดกลัว เพื่อคลายความกังวล

2) หากิจกรรมที่เด็กชอบและสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

3) สอนให้เด็ก ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

4) เตรียมอาหารที่ปรุงสุกใหม่ เน้นให้เด็กกินผัก ผลไม้ 5 สี เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

5) ฝึกเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่าง ให้เป็นสุขนิสัยประจำตัว” รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กล่าว

***
กรมอนามัย / 23 กุมภาพันธ์ 2565