ดร.สิรี ชัยเสรี ผอ.บพข. เผยงานวิจัยจากความร่วมมือของ 6 มหาวิทยาลัย เรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นครึ่งโดสสามารถกระตุ้นภูมิได้เท่ากับเต็มโดสและการสนับสนุนงานวิจัยสำคัญเพื่อแก้วิกฤตโควิดและการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์และสุขภาพในหลายโครงการ
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. กล่าวว่า บพข. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยสำคัญอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงได้มีการสร้างความร่วมมือระหว่างแพทย์และนักวิจัยที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยและจากหลายสถาบันในหลายประเทศ อาทิ ประเทศบราซิล ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเนเธอแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เกิดการศึกษาวิจัยในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการศึกษาวิจัยในเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือ โครงการพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 ในหลายโครงการ อาทิ โครงการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนโดสที่สามด้วยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และบริษัทไฟเซอร์ ในผู้ใหญ่คนไทยที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดเชื้อตายของบริษัทซิโนแวคมาแล้วจำนวนสองโดส
โดยโครงการนี้ บพข. ได้ให้ทุนสนับสนุนและร่วมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และ 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ บริษัท คลินิเซอร์ จำกัด คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลและคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โครงการวิจัยนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์สุขภาพและแพทย์ เพื่อศึกษาถึงหลักเศรษฐศาสตร์ ในการเข้าถึงวัคซีนของประชากรโลก โดยได้มีการประชุมร่วมกันในการประชุมเชิงปฏิบัติการ Testing Fractional Doses of COVID 19 Vaccines เพื่อหาคำตอบในการจัดการด้านวัคซีนสำหรับโรคโควิด- 19 เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 โดยการนำของ Prof.Michael Kremer นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลปีคศ.2019 จึงเป็นที่มาของการวิจัยและประเมินการฉีดวัคซีนกระตุ้นแบบเต็มโดสและครึ่งโดสในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนที่ โดย บพข. ได้สนับสนุนงบประมาณในการศึกษาวิจัยดังกล่าว และผลการวิจัยนี้จะช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ในการกำหนดการให้วัคซีนกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานที่เหมาะสม เพื่อป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนมากขึ้นในภาวะที่มีทรัพยากรและจำนวนวัคซีนจำกัด
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรรณี ปิติสุทธิธรรม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยได้ให้ข้อมูลว่าการศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาการให้วัคซีนเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนไฟเซอร์ในจำนวนทั้งหมด 1,230 คน ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 เข็ม โดยมีการทำการศึกษาการให้วัคซีนในขนาดครึ่งโดสจำนวน 625 คน ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหรือวัคซีนไฟเซอร์ครึ่งโดส (315 คน) ว่าสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันมีระดับที่ไม่ด้อยกว่าการให้วัคซีนในขนาดเต็มโดสหรือไม่ อีกทั้งเพื่อให้ทราบระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้วัคซีนเข็มที่ 3 หลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 เข็ม ในช่วงเวลา 2-3 เดือน, 3-4 เดือน และมากกว่า 4-6 เดือน รวมถึงการประเมินความปลอดภัยของการรับวัคซีนเข็มที่ 3 แบบเต็มโดสและครึ่งโดส เพื่อให้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือและเป็นไปตามมาตรฐานสากล อีกทั้งช่วยให้มีข้อมูลในการบริหารจัดการในการให้วัคซีนแก่ประชาชนได้อย่างเหมาะสม
ซึ่งผลการศึกษาวิจัยจากการวิเคราะห์กึ่งกลางดูภูมิ 28 วันหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่าการให้วัคซีนเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหรือวัคซีนไฟเซอร์ขนาดเต็มโดส สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานได้สูงถึงประมาณ 170-300 เท่า ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีน และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนขนาดครึ่งโดสมีภูมิคุ้มกันไม่ด้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนขนาดเต็มโดส ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหรือวัคซีนไฟเซอร์ และพบว่าการให้เข็ม 3 กระตุ้นห่างจากเข็ม 2 ของวัคซีนซิโนแวค ยิ่งห่างยิ่งดี โดยกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ห่างกันเท่ากับ 4 เดือน ขึ้นไปถึง 6 เดือน จะสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นสูงสุด เมื่อเทียบกับการให้เข็ม 3 หลัง 2-3 เดือน หรือ 3-4 เดือน อย่างมีนัยสำคัญ วัคซีนทั้ง 2 ตัวมีความปลอดภัยสูง
ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้ให้รายละเอียดถึงโครงการพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 โดยเริ่มตั้งแต่มีการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาดในปลายปี 2562 จนถึงต้นปี 2563 ได้เกิดความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการวิจัยและพัฒนา Realtime -PCR แบบ Multiplex โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และบริษัท สยามบโอไซเอนซ์ จำกัด ร่วมกันพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 รวมถึงการปรับปรุงห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จนสามารถผลิตชุดตรวจ Realtime-PCR แบบ Multiplex ฝีมือคนไทยที่ได้ขึ้นทะเบียน อย. และวางจำหน่ายในท้องตลาดได้
นอกจากนี้ บพข. ยังได้ให้ทุนสนับสนุน บริษัท เซโนสติกส์ จำกัด สตาร์ทอัพไทยที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดตรวจแลมป์เปลี่ยนสีสำหรับการตรวจคัดกรองโควิด-19 (Lamp Test Kit )โดยใช้ชุดน้ำยาที่พัฒนาขึ้นเองไม่ต้องพึ่งพาน้ำยาจากต่างประเทศมีต้นทุนต่ำ เป็นชุดตรวจที่รู้ผลแบบเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งมีส่วนช่วยให้การคัดกรองโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยชุดตรวจ Lamp Test Kit ดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. เรียบร้อยแล้ว Lamp Test Kit เหมาะกับการคัดกรองคนจำนวนมาก ซึ่งถูกใช้ในการระบาดระลอกที่ จ.สมุทรสาคร ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และที่ อ.เมือง จังหวัดสงขลา ศ.ดร.ศันสนีย์ ยังได้ให้ข้อมูลงานวิจัยเรื่องชุดตรวจโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยี CRISPR-Cas12a ซึ่งเป็นโครงการพัฒนากระบวนการผลิตในระดับใหญ่ของชุดตรวจโควิด-19 โดย บพข. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ คณะผู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาต่อยอดต้นแบบชุดตรวจดังกล่าวเป็นการผลิตในระดับใหญ่ภายในโรงงานที่ได้มาตรฐานอีกด้วย
นอกจากนี้ แผนงานสุขภาพและการแพทย์ บพข. ยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มทักษะ (Skills) และความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยพัฒนา และผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องมือแพทย์ (Medical Devices) โดยจับมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพการแพทย์ จัดอบรม ISO9001 ISO170215 ISO13485 ISO14971 การเตรียมแบบคำขออนุญาตผลิตเครื่องมือแพทย์ (Common Submission Dossier Template – CSDT) ISO62304 และ ISO60601 เพื่อให้นักวิจัยพัฒนาได้มีการดำเนินการด้านการผลิตให้ได้มาตรฐานสากล และสามารถเตรียมเอกสารสำหรับขึ้นทำเบียนกับ อย. ได้