วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจการดำเนินการตามแนวทางบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ มาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน
โดยชี้แจงเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) และเปิดโอกาสให้ซักถามเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน ถึงแนวทางการดำเนินการตามมติครม. ในวาระ ต่างๆ แนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างตาม MOU แนวทางการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่ครบวาระการจ้างงานในปี 65 และแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมาเข้ามาทำงาน ตามมาตรา 64 เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ และเพื่อให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายประเทศไทย ได้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้อง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ต้องหลบซ่อน และได้รับสวัสดิการตามสิทธิที่พึงมี
“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ตั้งมั่นให้ประเทศไทยบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่นายจ้าง/สถานประกอบการถึงแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานแรงงานต่างด้าวภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD – 19) เพื่อประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนการใช้แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมาย ขจัดต้นตอปัญหาการค้ามนุษย์ ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดำเนินการด้านการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 คลี่คลาย ได้เตรียมแนวทางบริหารจัดการแรงงาน 3 สัญชาติ ดังนี้
1.การนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเปิดให้นายจ้างที่มีความพร้อมยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand) ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีการยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand) แล้ว จำนวน 1,813 คำร้อง ต้องการแรงงานต่างด้าว จำนวน 113,717 คน
2.การผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MOU ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ในปี 65 ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 65 – 31 ธ.ค. 65 จำนวน 106,580 คน สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้ โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
3.การนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมาเข้ามาทำงานตามมาตรา 64 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ใน 9 จังหวัด โดยเริ่มนำร่องในจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดแรก ตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 ธ.ค. 64 และนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ในในพื้นที่ 8 จังหวัด แบ่งเป็น สัญชาติกัมพูชา ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ สระแก้ว และตราด สัญชาติเมียนมา ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ตาก กาญจนบุรี และระนอง