กระทรวงสาธารณสุข เผย 1 สัปดาห์อัตราติดเชื้อโควิดประเทศไทยเพิ่มขึ้น ย้ำทุกจังหวัดยังคงปฏิบัติตามคำแนะนำเตือนภัยโควิดระดับ 4 ต่อเนื่อง งดไปสถานที่เสี่ยง งดรวมตัวสังสรรค์ เน้นทำงานที่บ้าน เลี่ยงเดินทางข้ามจังหวัด จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ ส่วนเตียงรองรับยังมีเพียงพอ
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา แถลงสถานการณ์โควิด 19 เตือนภัยระดับ 4 ทั่วประเทศ และสถานการณ์เตียง
นพ.ธงชัยกล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น และคาดว่ายังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่องในช่วง 1-2 สัปดาห์จากนี้ จึงต้องช่วยกันชะลอการติดเชื้อ ซึ่งที่ผ่านมาได้แจ้งเตือนภัยโควิดระดับ 4 มีคำแนะนำคือ งดไปสถานที่เสี่ยง งดการรวมกลุ่มสังสรรค์ เน้นทำงานที่บ้าน และชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ ถ้าไม่จำเป็น แต่ขณะนี้ประชาชนอาจรู้สึกว่าโรคมีความรุนแรงน้อยลง ทำให้ใช้ชีวิตผ่อนคลายมากขึ้น จึงต้องขอย้ำทุกจังหวัดทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ และมีมาตราการเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยควบคุมป้องกันโรค ชะลอการระบาดได้ เพราะแม้ความรุนแรงของโอมิครอนจะต่ำกว่าเดลตาเกือบ 10 เท่า แต่หากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะวัยรุ่น วัยทำงานที่มีการรวมกลุ่มสังสรรค์ ดื่มสุรา อาจติดเชื้อและนำไปแพร่ลงสู่ครอบครัว ผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวที่บ้าน ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้
นพ.ธงชัยกล่าวว่า ผู้ติดเชื้อมากกว่า 90% มีอาการเล็กน้อย/ไม่มีอาการ อาจทำให้ไม่ระวังตัวเอง ดังนั้น ถ้ามีอาการเล็กน้อยให้ตรวจ ATK เมื่อผลเป็นบวกให้กักตนเองและประสาน 1330 หรือหากมีความเสี่ยง ให้กักตัวเองและตรวจ ATK เป็นประจำเช่นกัน ทั้งนี้ หากเป็นผู้ติดเชื้อและแพทย์วินิจฉัยว่า เป็นกลุ่มอาการสีเขียว ขอความร่วมมือรับการรักษาตัวที่บ้าน( Home Isolation) ได้ ให้ทำตามที่แพทย์แนะนำ จะทำให้มีเตียงรองรับผู้ที่มีอาการต้องใช้เตียงได้เพียงพอ นอกจากนี้ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ทั้งใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ไม่ไปไปสถานที่แออัด งดการรวมกลุ่มรับประทานอาหาร สังสรรค์ และเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด จะช่วยป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ ส่วนสถานประกอบการต่างๆ ให้เข้มมาตรการ COVID Free Setting
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทั้งประเทศมีเตียง 1.7 แสนเตียงทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน อัตราครองเตียง 49% เพียงพอรองรับผู้ป่วยโควิดทุกเขตสุขภาพ สำหรับ 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด อัตราครองเตียงยังไม่เกิน 50% เช่นกัน ส่วน กทม.และปริมณฑล มีเตียง 5.5 หมื่นเตียง ใช้เตียงแล้ว 2.6 หมื่นเตียง โดยเป็นกลุ่มสีเขียว 2.4 หมื่นราย จึงยังมีเพียงพอรองรับ อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ติดเชื้อกลุ่มอาการสีเขียวเข้าระบบการรักษาตัวที่บ้าน home isolation ซึ่ง ในกทม.สามารถรับใหม่ได้วันละ 5,540 ราย และยังมี Community isolation รวมอีก 5 พันเตียงรองรับ
“ประชาชนที่สงสัยติดเชื้อ หากมีอาการหนักให้โทร 1669 หากไปตรวจที่โรงพยาบาลผลเป็นบวก จะได้รับบริการตามระดับอาการ หากตรวจด้วยตนเองและมีผลบวก ให้โทร 1330 ซึ่ง สปสช.เพิ่มถึง 1 พันคู่สาย และยังมีระบบไลน์และเว็บไซต์ สปสช. ให้บันทึกข้อมูลในการติดต่อกลับเพื่อประเมินอาการ โดยหากไม่มีอาการจะส่งเข้าระบบ HI/CI ซึ่งผู้ที่ตรวจ ATK เป็นบวกแล้วไม่จำเป็นต้องตรวจยืนยัน RT-PCR ซ้ำ ก็สามารถเข้าระบบบริการภาครัฐและเครือข่ายเอกชนที่ร่วมมือได้ทุกแห่ง” นพ.ณัฐพงศ์กล่าว
ด้าน นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดทั่วโลกมี 2 สายพันธุ์ย่อย คือ BA.1 และ BA.2 ซึ่ง BA.2 มีความรุนแรงใกล้เคียงกับ BA.1 แต่มีข้อมูลเพิ่มว่าจะติดเชื้อและแพร่เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า และประเทศไทยเริ่มมี BA.2 เพิ่มขึ้นประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว และประเทศไทยการติดเชื้อยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งลักษณะคลัสเตอร์และสัมผัสใกล้ชิดในครอบครัวและชุมชน ซึ่งการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทำให้มีโอกาสเข้าสู่กลุ่มเสี่ยง ทำให้ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ หรืออาจเสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามมาได้ โดยวันนี้มีรายงานเสียชีวิต 32 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยและมีโรคเรื้อรัง และ 60% ยังไม่ฉีดวัคซีน ส่วนที่เหลือไม่ได้ฉีดบูสเตอร์ จึงต้องรณรงค์ให้กลุ่ม 608 รับการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น เพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิต
สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมาช่วงวันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ 2565 มีการติดเชื้อเฉลี่ย 108,625 ราย เป็นคนไทย 96% ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสถานที่เสี่ยง มีลักษณะเป็นคลัสเตอร์ ทั้งโรงเรียน ตลาด แคมป์ก่อสร้าง โรงงานและสถานประกอบการ ร้านอาหาร ประมาณ 54% และสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงในครอบครัว 44% พบว่าไม่มีอาการป่วย 53% มีอาการป่วย 46% อาการสำคัญที่พบ คือ เจ็บคอ ไอ หรือมีไข้ต่ำๆ ดังนั้น หากมีอาการเจ็บคอ ไอ ควรตรวจ ATK ทันที ส่วนกลุ่มอายุเด็ก 0-9 ปี และ 10-19 ปีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน
“รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดต่างๆ เกือบทั่วประเทศมีอัตราการติดเชื้อมากกว่า 100 คนต่อแสนประชากร และเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนใหญ่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ ทั้งอายุต่ำกว่า 18 ปี อายุ 18-59 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม จากการรวมกลุ่มกิจกรรม รับประทานอาหาร และสัมผัสใกล้ชิดมากๆ ทำให้การกระจายโรคเพิ่มต่อเนื่อง จึงต้องย้ำเรื่องการแจ้งเตือนภัยระดับ 4” นพ.จักรรัฐกล่าว