จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทําให้ประเทศไทย ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ส่งผลให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ และ เขื่อนต่างๆ มีปริมาณลดน้อยลง ไม่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งตามมาในหลายพื้นที่ จากสถานการณ์ช่วงฤดูแล้งดังกล่าว
กรมชลประทานได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้น้ำ มีความเป็นห่วง เป็นใยพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตร จึงได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564 ถึง ปี 2565 ตามมติ ครม.เห็นชอบ ทั้ง 8 มาตรการ คือ
1.เร่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนเพื่อเป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้ง
2.จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ โดยการสำรวจ ตรวจสอบ พื้นที่ที่มีศักยภาพจะพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองได้
3. กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง โดยติดตาม กำกับให้เป็นไปตามแผน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำ
4. วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ส่งเสริมสนับสนุนการเพาะปลูกในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นอันดับแรก
5. เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อสนับสนุนน้ำเตรียมแปลง
6. เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง และเตรียมแผนกรณีเกิดปัญหา
7. ติดตามประเมินผล เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผน
8. สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำ ให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือ ในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
นอกจากดำเนินการตาม 8 มาตรการ เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งแล้ว หนึ่งในมาตรการของกรมชลประทาน ที่เห็นผลเป็นรูปธรรมในการประหยัดน้ำ ด้วยการรณรงค์ส่งเสริม ตามแนวทางนโยบายโครงการ “ ประหยัดน้ำ ทางรอดต้านแล้ง” โดยเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกร หันมาทำนาทฤษฏีใหม่ ด้วยการ “ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง” หรือ “การทำนาแบบใช้น้ำน้อย” ที่จะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในนาข้าวได้มากถึง ร้อยละ 28 ของปริมาณน้ำที่ใช้ในการทำนาแบบทั่วไป ซึ่งจะใช้น้ำประมาณ 1,200 ลูกบำศก์เมตรต่อไร่ แต่ถ้าทำนาแบบเปียกสลับแห้ง จะใช้น้ำเพียงประมาณ 860 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ เท่านั้น
นอกจากการลดการใช้น้ำแล้ว ยังช่วยลดทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และสารเคมี รวมถึงลดการจ้างแรงงาน แถมยังช่วยเพิ่มคุณภาพข้าว ตลอดจนปริมาณผลผลิต และผลกำไรอีกด้วย
สำหรับแนวทางปฏิบัติ เริ่มจากการนำท่อ PVC ขนาดความยาว 25 เซนติเมตร เปิดทั้ง 2 ด้าน เจาะรูรอบๆ และติดตั้งท่อ PVC โดยฝังลงไปในแปลงนาลึก 20 เซนติเมตร ให้ท่อเหลือโผล่เหนือผิวดิน 5 เซนติเมตร ล้วงเอาดินที่อยู่ในท่อ PVC ออก เพื่อให้สามารถดูระดับน้ำในแปลงนาได้
หลังจากปักดำข้าว ประมาณ 25 วัน ในระยะต้นกล้า ให้ลดการใช้น้ำครั้งแรก ใช้เทคนิคแบบเปียกสลับแห้ง โดยการงดให้น้ำจนระดับน้ำในแปลงนาแห้งลงไปจนต่ำกว่าระดับผิวดิน ประมาณ 15 เซนติเมตร (ทั้งนี้จำนวนวันงดให้น้ำ ขึ้นอยู่กับชนิดของดิน) ซึ่งสามารถดูได้จากท่อ PVC ที่ฝังไว้
หลังจากนั้นให้ทำการให้น้ำจนระดับน้ำกลับขึ้นมาเลี้ยงต้นข้าวสูงที่ระดับ 5 เซนติเมตร เท่ากับระดับปากท่อ และเลี้ยงระดับน้ำให้อยู่ระดับนี้จนข้าวมีอายุ ประมาณ 60 วัน ในระยะแตกกอ จึงทำการแกล้งข้าวครั้งที่ 2 จนน้ำลดต่ำกว่าผิวดิน 15 เซนติเมตร อีกครั้ง จึงให้น้ำอีกครั้งจนท่วมผิวดินไปถึงที่ระดับ 7-10 เซนติเมตร เหนือผิวดิน รักษาระดับนี้ไว้ไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยวที่ประมาณ 110 วัน จึงหยุดการให้น้ำ เพราะในช่วงนี้ต้นข้าวไม่ต้องการน้ำแล้ว และระบายน้ำออกจากนาข้าวให้แห้ง เพื่อเร่งให้ข้าวสุกแก่ ซึ่งวิธีการนี้ เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวในเขตพื้นที่ทำนา ของชลประทานที่ควบคุมการระบายน้ำได้ดี
หากเกษตรกรในพื้นที่สนใจ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือเข้าชมการสาธิต และเรียนรู้ ได้ที่สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทาน ทั้ง 9 แห่ง ได้แก่
– สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 1 แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โทร 0 5347 1089
– สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก โทร 0 5536 9042
– สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 ห้วยบ้านยาง จังหวัดนครราชสีมา โทร 0 4446 5141
– สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 4 สามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี โทร 0 3557 1850
– สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 5 กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โทร 0 3420 4283
– สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 6 จังหวัดเพชรบุรี โทร 0 3244 9398
– สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 7 ปัตตานี จังหวัดยะลา โทร 0 7348 3386
– สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช โทร 0 7538 6320
– สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 9 ท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี โทร 0 3469 9041 ได้ตามวันเวลาราชการ