วธ.โชว์ ๑๐ สุดยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย ร่วมจัดแสดงในงาน “CCPOT GRAND EXPOSITION งานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย” กว่า ๕,๐๐๐ รายการ ชูการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมสู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ
วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดงาน “CCPOT GRAND EXPOSITION งานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย” ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น ๕ และพาร์ค พารากอน ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร เพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริม “Soft Power” ความเป็นไทยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ช่วยเหลือชุมชนและผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจาก ๑,๐๐๐ ชุมชนทั่วประเทศ กว่า ๕,๐๐๐ รายการ แบ่งเป็น
๑) ICHAMP ระดับเพชร
๒) ICHAMP ระดับทอง
๓) CCPOT ระดับเอก
๔) สยามแพรพรรณ
๕) รังสรรค์ภูษา
๖) นานาหัตถศิลป์
๗) เวทีกลาง
พร้อมทั้งมีการแสดงทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกมากมาย โดยมีไฮไลท์ที่โซน ICHAMP ระดับเพชร หรือผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้ากลุ่มพรีเมียม ๑๐ รายการ ซึ่งมีความโดดเด่นและแตกต่าง ดึงดูดความสนใจผู้ร่วมงานเป็นอย่างมาก
๑. เก้าอี้เงินแสนตอก มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเครื่องเงินไทย เพราะโลหะเงินหนึ่งลายใช้การตีมือนับร้อยครั้ง เครื่องโลหะเงินหนึ่งชิ้นใช้การตอกมือนับแสนครั้ง นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ “เก้าอี้เงินแสนตอก”
๒.ช็อกโกแลตทุเรียนนนท์ ผสานกับช็อกโกแลตระดับพรีเมี่ยมเข้ากับทุเรียนระดับพรีเมียม จึงเป็นผลผลิตของผลไม้ไทยกับของหวานสากลที่รวมตัวกันได้อย่างลงตัว
๓.ฉากใหญ่ คือฉากกั้นห้องที่ได้แรงบันดาลใจจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหนังใหญ่ เป็นการประยุกต์งานฝีมือฉลุลายด้วยทักษะการฉลุหนัง โดยคณะหนังใหญ่วัดขนอน
๔.กระจกลิเก เป็นการสร้างสรรค์เป็นกระจกเงาเต็มตัวแบบตั้งพื้น ลวดลายของกรอบกระจกใช้องค์ประกอบจากสีสันสดใสของฉากท้องพระโรงในการแสดงลิเก สะท้อน อัตลักษณ์ ตัวตน บทบาทหน้าที่ต่อการสานต่อมรดกทางวัฒนธรรมตั้งแต่หลังฉากจนถึงหน้าเวที
๕.แมวไทยกวักมงคล เป็นรูปปั้นแมวไทยที่เป็นมงคลแก่ผู้เลี้ยงสี่ชนิด ในท่าทางการกวักเรียกสิ่งดีงาม ได้แก่ แมววิเชียรมาศ แมวมาเลศ แมวโกนจาและแมวศุภลักษณ์
๖.ชุดโนรา ราตรี การออกแบบชุดโนรา ราตรี สื่อถึงความงดงามของดาวบนฟ้าและแสงตะวันที่สาดส่องน้ำทะเล ด้วยความยืดหยุ่นของตัวผ้าทำให้สามารถนำลวดลายลูกปัดหลากสี มาประดับได้อย่างหรูหรา สง่างาม
๗.เสื้อคลุมมวยไทย วินเทอร์ วินเทอร์ เป็นการออกแบบพัฒนามาจากมรดกวัฒนธรรมไทย ใช้วัสดุขนสัตว์เทียมที่มีความอบอุ่นสำหรับชาวต่างชาติผู้ชื่นชอบกีฬามวยไทยเข้ากับบริบทการเป็นอยู่ของกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศ ใช้โทนสีพร้อมลูกเล่น อัตลักษณ์ของแม่ไม้มวยไทยเป็นแถบคาด ให้ความเข็มแข็ง สง่างาม และลงตัว
๘.ฐานเทียนอโรมาอุบลราชธานีศรีวนาลัย เป็นการประยุกต์เทคนิคทำเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ เพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากใช้แค่วันเข้าพรรษา เช่น การตกแต่งที่รีสอร์ทหรือสปา
๙.กระเป๋าเรซิ่นตีนจก นำชิ้นส่วนของตีนซิ่นซึ่งใช้กระบวนการอันเป็นเอกลักษณ์คือการ “จก” มาสตัฟฟ์ด้วยการหล่อเรซิ่นใส เป็นกระเป๋าทรงกล่องผืนผ้า
๑๐.ปูนปั้นเพชรอาลัว ปูนปั้นตกแต่งผนังที่มีรูปแบบทันสมัย ได้แรงบันดาลใจจาก “อาลัว”หนึ่งในขนมหวานขึ้นชื่อของเมืองเพชรบุรี
นอกจากนี้ยังมีโซน ICHAMP ระดับทอง หรือผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าทั่วไป ๒๔๐ รายการ เช่น เครื่องประดับมุกอันดามัน เครื่องประดับบ้าน เครื่องทองเหลืองตะเพียนทอง เครื่องประดับบ้านแก้วเป่า เป็นต้น
ผู้ที่สนใจร่วมชมได้ในงาน “CCPOT GRAND EXPOSITION งานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย” ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์นี้ หรือ เชิญชมและร่วมสนับสนุนสินค้าวัฒนธรรมชุมชนผ่านระบบออนไลน์เสมือนจริงได้ที่ www.ccpot.in.th หรือสอบถามได้ที่กองเศรษฐกิจวัฒนธรรม โทร ๐๒ ๒๐๙ ๓๕๙๗ หรือ ๐๒ ๒๐๙ ๓๕๙๙