ครม.เห็นชอบโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24เมษายน 2561 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ เห็นชอบในหลักการโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่ (สอศ.) และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ (สกอ.) เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม NEW Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย

นพ.อุดม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม NEW Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย (อาชีวะพันธุ์ใหม่ปี 2561-2565 และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ปี 2561-2569) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ

พร้อมทั้งได้อนุมัติงบประมาณกลางปี จำนวน 1,396 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อตอบโจทย์ 3 ประการ คือ 1) ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และ Thailand 4.0  2) แก้ปัญหาการขาดแคลนช่างฝีมือ ช่างที่มีทักษะชั้นสูง รวมถึงวิศวกรด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะช่างอุตสาหกรรม ช่างเทคนิค 3) เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากที่ผ่านมา ได้รับเสียงสะท้อนจากภาคอุตสาหกรรมว่าภาครัฐผลิตบุคลากรไม่ตรงตามความต้องการของตลาด และต้องฝึกงานเพิ่มเติมจึงจะสามารถปฏิบัติงานได้จริง

ทั้งนี้ ได้จัดทำโครงการเป็น 2 ระดับ ดังนี้

1) โครงการระดับอาชีวศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะพันธุ์ใหม่ ที่เป็นช่างเทคนิค/นักเทคโนโลยีที่มีความชำนาญขั้นสูงตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยในการดำเนินการ ผู้เชี่ยวชาญจากสถานประกอบการและอาจารย์มหาวิทยาลัยจะเข้ามาร่วมจัดการเรียนการสอนในสถานที่ทำงาน (Work Integrated Learning) อย่างเข้มข้น มีความร่วมมือกับสถานประกอบการในประเทศที่ต้องการแรงงานที่มีฝีมือตรงกับความต้องการ และความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศในการจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรให้ได้มาตรฐานสากล มีการติดตาม ควบคุมคุณภาพการสอนตามแนวทาง Work Integrated Learning โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากนี้ จะมีการอบรมครูของสถาบันอาชีวศึกษาอย่างเข้มข้นเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนและประเมินผลนักศึกษาได้  อันจะเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอนที่มีคุณภาพสูงในอาชีวศึกษา

ขณะนี้ มีสถาบันอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 22 แห่ง ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก โดยสามารถผลิตกำลังคนได้ประมาณ 8,500 คน ภายใน 5 ปี ซึ่งเหตุผลที่กระทรวงกระทรวงศึกษาธิการเสนอจำนวนคนของระบบอาชีวศึกษาน้อยกว่าในระบบมหาวิทยาลัย เพราะได้ตั้งมาตรฐานของอาชีวะพันธุ์ใหม่ไว้สูงมาก และหลักสูตรต้องเป็นมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตามจะขยายผลเพื่อผลักดันให้สถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศปรับมาตรฐานให้เป็นระดับสูงต่อไป

2) โครงการระดับอุดมศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูง สำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่สู่อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ โดยมีแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลาย เช่น การปรับเปลี่ยน/เพิ่มสมรรถนะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ตอบโจทย์เฉพาะของสถานประกอบการและการพัฒนาส่วนบุคคลตามอัธยาศัย โดยมีการให้ใบรับรอง (Certificate) ที่เน้นรับผู้เข้าศึกษาเป็นบุคคลที่ทำงานแล้ว การบูรณาการทักษะชีวิตของสังคมดิจิทัลกับความรู้หลักในศาสตร์สาขาวิชาชีพ โดยการพัฒนาการเรียนการสอนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป และการบูรณาการการเรียนการสอนข้ามศาสตร์สาขาวิชาชีพให้แก่นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการจำนวน 20 แห่ง มีหลักสูตรทั้งสิ้น 235 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรNon-Degree หมายถึงเป็นการอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพเป็นระยะเวลา 6 เดือน1 ปี จะได้ประกาศนียบัตรจำนวน 119 หลักสูตร โดยจะนำคนที่ทำงานอยู่แล้วที่ต้องการเพิ่มศักยภาพพัฒนาทักษะการทำงาน ประมาณการว่าใน 3 ปีแรกจะสร้างกำลังคนได้ 51,999 คน โดยรัฐบาลมอบเงินรายหัวให้ หัวละ 60,000 บาท ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่ม Degreeหมายถึงกลุ่มที่ได้รับปริญญา จำนวน 116 หลักสูตร เมื่อจบโครงการจะทำให้เกิดบัณฑิตพันธุ์ใหม่จำนวน 56,078 คน เฉลี่ยเงินสนับสนุน 120,000-150,000 บาทต่อคนต่อปี

“หากเสร็จโครงการภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถผลิตกำลังคนจำนวน 115,626 คน โครงการนี้เป็นการลงทุนเรื่องความรู้ความสามารถของคนไทย ต้องดำเนินการให้ทันกับการเปิดภาคเรียนแรก ปีการศึกษา 2561 ในเดือนพฤษภาคม หรือสิงหาคม 2561 ในการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงโดยเร็วที่สุด” นพ.อุดม กล่าว

                                                                                                                                                                                                                                  ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ รัฐบาลไทย