สธ.ยืนยันวัคซีนทุกชนิดที่นำมาใช้มีผลการศึกษายืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพ

กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ ยึดประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก วัคซีนทุกชนิดและทุกสูตรที่ฉีดให้กับประชาชนผ่าน การรับรองจากองค์การอนามัยโลก อย.ประเทศผู้ผลิต อย.ไทย และมีผลการศึกษายืนยันถึงประสิทธิภาพและ ความปลอดภัย

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่อาคารสัปปายะสภาสถาน รัฐสภา กทม. นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิงวค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวชี้แจงกรณีข้อสงสัยประสิทธิภาพของวัคซีนที่นำมาใช้ในเด็ก

โดยนายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า จากการอภิปรายเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีบางประเด็นที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนจนอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้ารับวัคซีนของประชาชนได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของประเทศไทยเป็นไปบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ โดยยึดประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ

ด้านนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนได้ครบตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ตั้งแต่ก่อนสิ้นปี 2564 และถึงขณะนี้เราฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 120 ล้านโดส โดยส่วนหนึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับการบริจาคจากต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน บริจาควัคซีนซิโนแวค จำนวน 3 ล้านโดส ประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลีใต้ เยอรมัน ที่บริจาควัคซีนแอสตร้าเซเนก้า รวมจำนวน 3 ล้านโดส และประเทศสหรัฐอเมริกา ไอซ์แลนด์ ที่บริจาควัคซีนไฟเซอร์ ประมาณ 1.6 ล้านโดส และประเทศสหรัฐอเมริกายังได้บริจาควัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 1 ล้านโดสและประเทศฝรั่งเศสจะบริจาควัคซีนให้เพิ่มอีก

ซึ่งจากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา คาดประมาณว่า การฉีดวัคซีนของประเทศไทย ช่วยลดการเสียชีวิตของประชาชนได้กว่า 25,000 คน ในช่วงการระบาดหนักตั้งแต่ช่วงเมษายนจนถึงปลายปี 2564 อีกทั้งช่วยลดการป่วยหนักและลดการเข้า รพ. กว่า 100,000 คน ทั้งนี้ วัคซีนทุกชนิดที่กระทรวงสาธารณสุขนำมาฉีด ให้กับประชาชน ต้องผ่านการรับรองขององค์การอนามัยโลกและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศผู้ผลิต รวมถึง อย.ไทย โดยคำนึงถึง

1)ความปลอดภัย ซึ่งจากการติดตามการให้วัคซีนซิโนแวคในเด็กประมาณ 235 ล้านโดส พบผลข้างเคียงไม่รุนแรงเพียง 1.9 หมื่นราย และเป็นอาการข้างเคียงเล็กน้อยที่หายได้เอง  ส่วนวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ ก็พบว่ามีความปลอดภัยเช่นกัน

2)ประสิทธิภาพ จากการศึกษาวิจัยการสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนในห้องปฏิบัติการและการศึกษาประสิทธิผลจากการใช้ในสถานการณ์จริงในไทย พบว่า วัคซีนทุกชนิดที่ไทยใช้ รวมถึงวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพดี โดยเฉพาะในสายพันธุ์ที่ระบาดในช่วงต้นปี 2564ที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนในไทย

สำหรับวัคซีนสูตรไขว้ได้มีการทบทวนและพิจารณาข้อมูลทางวิชาการจากผลการศึกษาต่าง ๆ ทั้งการศึกษาวิจัยของต่างประเทศ, ในประเทศ, การใช้จริงในพื้นที่และการศึกษาโดยคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ที่ศึกษาการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ในเด็ก อายุ 12-17 ปี พบว่าระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นสูงกว่าการฉีดวัคซีนสูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม นอกจากนี้ การใช้วัคซีนสูตรไขว้ โดยเริ่มจากวัคซีนเชื้อตาย ยังมีข้อดีคือ เป็นการปูพื้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันก่อน เมื่อตามด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น จะเร่งภูมิคุ้มกันให้อยู่ในระดับสูงและสามารถฉีดครบโดสได้เร็ว 4 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับวิธีฉีดปกติที่ต้องใช้เวลา 8 สัปดาห์

“ประเทศไทย มีการจัดหาวัคซีนที่เพียงพอ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ เพราะเป็นการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะหากเกิดการระบาดขึ้น และวัคซีนที่จัดหาได้นำไปฉีดให้กับประชาชนทุกคนอย่างคุ้มค่า ไม่มีวัคซีนเหลือทิ้งและยังสามารถบริจาควัคซีนให้กับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ ที่ขาดแคลนวัคซีน เพื่อให้ทุกคนบนโลกปลอดภัยหากท่านใดยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือฉีดครบ 2 เข็ม เกิน 3 เดือนแล้ว ขอให้ไปรับวัคซีนได้ ณ สถานพยาบาลของรัฐรวมถึง รพ.สต.ใกล้บ้าน” นายแพทย์โอภาส กล่าว

ด้านนายแพทย์ไพศาล กล่าวว่า อย.ยืนยันวัคซีนซิโนแวคในเด็ก 6-17 ปี มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดในกลุ่มเด็ก อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการ ซึ่งวัคซีนโควิดในเด็ก ทุกชนิดจะอ้างอิงการศึกษาที่เก็บในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า สำหรับข้อมูลด้านความปลอดภัย พิจารณาจากผลการใช้จริงในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 235 ล้านโดสในประเทศจีน โดยจากการติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้วัคซีน โดยกรมควบคุมโรคของประเทศจีน ในกลุ่มเด็ก 3-17 ปี ในช่วงเดือน พฤษภาคม – ธันวาคม 2564 พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ การแพ้รุนแรง เป็นต้น ประมาณ 0.071 รายต่อผู้ใช้ 1 แสนราย ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ไม่รุนแรง ได้แก่ ปวดบวมที่ฉีด ไข้ เป็นต้น พบประมาณ 10 รายต่อผู้ใช้ 1 แสนราย

สำหรับข้อมูลด้านประสิทธิภาพ จากการศึกษาโดยกระทรวงสาธารณสุขชิลี ในการฉีดวัคซีนซิโนแวคในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปจำนวน 1.9 ล้านคน ช่วงเดือน กันยายน – ธันวาคม 2564 สามารถลดการติดเชื้อได้ถึง 74% ลดการเข้าโรงพยาบาล 90% ลดการเข้าไอซียู และลดการเสียชีวิตได้ถึง 100% สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงพิจารณาให้มีการให้วัคซีนซิโนแวคในเด็กอายุ 6-17 ปีได้

ด้านนายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า ช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ใช้กลไกการประกาศเป็นโรคฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ทั้งในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน แต่ขณะนี้เป็นการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง รวมถึงมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มสีเขียวสามารถรักษาที่บ้านได้ กระทรวงสาธารณสุขได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นชอบตรงกันให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ยังคงได้รับการรักษาฟรี เมื่อรักษาในโรงพยาบาลรักษาตามสิทธิที่มีอยู่เดิม ได้แก่ บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ รวมถึงกองทุนต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมากขึ้น ต้องใช้ออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจ ได้เตรียมออกประกาศกำหนดให้เป็นสิทธิ UCEP PLUS มีผล 1 มีนาคมนี้เช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยสามารถรักษาฟรีได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งการปรับให้ผู้ป่วยโควิด 19 รักษาฟรีตามสิทธิที่มีอยู่เดิมจะทำให้ระบบสามารถกลับมาให้บริการผู้ป่วยอื่น ๆ ได้ตามปกติและมีประสิทธิภาพ

************************************** 18 กุมภาพันธ์ 2565