กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวโครงการชุมชนวิถีใหม่ ปลอดภัยจากโควิด 19 สนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จิตอาสา และประชาชน นำระบบควบคุมโรคดิจิทัลมาใช้ตัดตอนวงจรโควิด 19 ในชุมชน
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการชุมชนวิถีใหม่ ปลอดภัยจากโควิด 19: สานพลัง อสม. จิตอาสา ประชาชน ร่วมใช้ระบบปฏิบัติการตัดตอนวงจรโควิด 19 “หยุดความชะงักงัน สู่การกักกันตัวอย่างมีรายได้” และกิจกรรมส่งมอบทุนหมุนเวียนสนับสนุนพื้นที่ขยายผลดำเนินงาน โดยมี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารหน่วยงานเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ดร.สาธิตฯ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้งานสาธารณสุขเป็นรากฐานช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการลงทุนด้านสุขภาพของคนในชาติ คือการลงทุนที่ยั่งยืนที่สุด เมื่อประชาชนมีสุขภาพที่ดีจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรง โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน การอยู่ร่วมกับโรคโควิด 19 อย่างปลอดภัย ตามแนวทาง “ตำบลวิถีใหม่ ปลอดภัยจากโควิด 19” เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจประเทศให้เดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งนอกจากการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังมีพลังของภาคประชาชน คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่เป็นกำลังสำคัญในฐานะด่านหน้าในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19
ทั้งนี้ การดูแลประชาชนให้เข้าสู่สุขภาพดีวิถีชีวิตปกติใหม่ ที่อยู่ร่วมกับโควิด 19 ได้อย่างปลอดภัย ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการทำมาหากินด้วย กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงได้จัดทำโครงการชุมชนวิถีใหม่ ปลอดภัยจากโควิด 19: สานพลัง อสม. จิตอาสา ประชาชน ร่วมใช้ระบบปฏิบัติการตัดตอนวงจรโควิด 19 “หยุดความชะงักงัน สู่การกักกันตัวอย่างมีรายได้” และกิจกรรมส่งมอบทุนหมุนเวียนสนับสนุนพื้นที่ขยายผลดำเนินงานขึ้น โดยขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ 1,000 แห่ง เพื่อให้ อสม. และเครือข่ายภาคประชาชนใช้ระบบปฏิบัติการตัดตอนวงจรโควิด 19 ในการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อสร้างไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ย้อนหลัง 14 วัน โดยจะมีการแจ้งเตือนผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อ ด้วยการส่ง SMS อัตโนมัติ โดยมีอสม. ทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยเหลือ” (Buddy) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ติดตามอาการผู้เสี่ยงสูงที่ต้องกักกันตน ให้รายงานอุณหภูมิ อาการผิดปกติตลอดระยะเวลา 14 วัน ที่กักตนผ่านระบบดิจิทัล และให้กักกันตนจนครบระยะเวลา
ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า การสอบสวนโรคเพื่อหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ ครบถ้วน จะช่วยจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ โดยระบบปฏิบัติการตัดตอนวงจรโควิด 19 เป็นระบบปฏิบัติการดิจิทัลผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่เป็นการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้นำชุมชน ในการร่วมกันคัดกรองผู้มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด 19 เข้าสู่ระบบกักกันตน เพื่อลดการแพร่เชื้อ เป็นการตัดตอนและหยุดวงจรการระบาดในแต่ละชุมชนแบบพึ่งพาตนเอง โดยใช้ทุนของชุมชนมาสร้างรายได้ระหว่างการกักตัว เช่น อสม.หมู่ 3 บ้านแม่หวาน ต.ป่าเมี่ยง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ มีแนวคิดให้ผู้กักตัวเสี่ยงสูงจัดทำใบตองตึง ถักทอเป็นผลิตภัณฑ์ส่งขายให้กับคนในชุมชน เป็นการสร้างรายได้ระหว่างการกักตัวให้กับตนเอง
******************* 18 กุมภาพันธ์ 2565