ใส่บาตร ใส่ใจ สงฆ์ไทยได้สุขภาพ

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เป็นวันมาฆบูชา ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธจะร่วมกันทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เจริญภาวนา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ เพื่อระลึกถึงคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประพฤติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี และรักษาไว้ซึ่งประเพณีอันดีงาม วันมาฆบูชาปีนี้ยังคงอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังวางใจไม่ได้ การจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา จึงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง  และการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ไม่เพียงแค่การป้องกันโควิด-19 เท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไปในการปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี คือ การเลือกถวายอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน สะอาด และปลอดภัยให้กับพระสงฆ์ เราทราบกันดีว่า เมื่อถวายสิ่งใด พระสงฆ์ท่านก็ฉันสิ่งนั้น แต่เราอาจลืมไปว่า อาหารบางอย่างที่ถวายนั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพพระสงฆ์อย่างไรบ้าง ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีพระสงฆ์ สามเณรอาพาธเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ ด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs  5 อันดับแรก คือ โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง และข้อเข่าเสื่อม ตามลำดับ จากการฉันอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ และการขาดกิจกรรมทางกาย ส่งผลให้แนวโน้มการอาพาธของพระสงฆ์สูงขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของโครงการ “สงฆ์ไทยไกลโรค” ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหา จึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูล เพื่อรณรงค์ให้พุทธศาสนิกชนทุกคนได้เข้าใจถึงปัญหาและร่วมกันแก้ไข เพื่อสร้างสุขภาวะด้านโภชนาการที่ดีแด่พระสงฆ์

ศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช หัวหน้าโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค กล่าวถึงโครงการนี้ว่า คนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือจะเป็นเด็ก ทุกคนมักจะมีปัญหาเรื่องโภชนาการที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ แต่ปรากฎว่าพระสงฆ์ซึ่งคนอาจคาดไม่ถึงว่า ท่านเองก็มีปัญหาโภชนาการเช่นกัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ สสส. และภาคีเครือข่ายได้ริเริ่ม และผลิตสื่อขึ้นมา ผ่านช่องทางเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊ก ชื่อว่า สงฆ์ไทยไกลโรค เพื่อที่จะช่วยปรับพฤติกรรม หรือช่วยชักจูงโน้มน้าว ให้พระสงฆ์ ฆราวาส สามเณร และผู้ขายอาหาร ได้เรียนรู้และศึกษาวิธีการเตรียมอาหารหรือการเลือกถวายอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนการที่ดีให้แด่พระสงฆ์

ศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จงจิตร  กล่าวต่อว่า หลักทั่วไป 4 ประการ ในการเลือกอาหารใส่บาตร อย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ ทำได้ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

1.เพิ่มผัก เน้นการประกอบอาหารด้วยเมนูผักที่หลากหลาย

2.เพิ่มโปรตีน เน้นการประกอบอาหารด้วยเนื้อสัตว์ที่หลากหลาย เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ ไข่ไก่ และเต้าหู้ถั่วเหลือง เป็นต้น

3.หลีกเลี่ยงการถวายน้ำหวาน รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง

4.เพิ่มคุณค่าทางโภชนการที่ดีด้วยการถวาย นมวัว แทน เนื่องจากนมวัวเป็นแหล่งของโปรตีนและแคลเซียม

“สสส. ถือว่ามีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการมองเห็นถึงปัญหาโภชนาการของพระสงฆ์ ในขณะที่หลาย ๆ คนอาจจะยังนึกไม่ถึง สิ่งที่ สสส. ทำ คือ การริเริ่ม การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงระหว่างโครงการกับภาคีเครือข่าย มาผนึกกำลังกัน เพราะว่าการที่จะแก้ไขปัญหาโภชนาการพระสงฆ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่สำคัญ เราต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ สมาคมหรือหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งฆราวาส ในการแก้ไขปัญหาด้านโภชนาการของพระสงฆ์ ซึ่งสสส. มองเห็นมุมนี้ รวมทั้งทำหน้าที่และบทบาทนี้ได้อย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด” ศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จงจิตร กล่าว

ข้อควรปฏิบัติ 10 ประการเมื่อถวายอาหารพระสงฆ์ ให้ปลอดภัยจากโควิด-19

ผู้ตักอาหารถวายพระสงฆ์ ปฏิบัติดังนี้

1.แต่งกายสะอาด

2.ใส่หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกตลอดเวลา

3.ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที ล้างน้ำสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์

4.สวมถุงมือขณะตักอาหารถวายพระสงฆ์

5.จุดตักอาหาร รักษาระยะห่างระหว่างผู้ปฏิบัติงาน อย่างน้อย 1 เมตร

6.วางอาหารห่างผู้รับอาหารเพื่อป้องกันละอองจากการพูด ไอ จาม ลงสู่อาหาร

7.ใช้ที่คีบอาหารที่สะอาดหยิบอาหารที่ปรุงสุก

8.ไม่ดึงหน้ากากอนามัยออกขณะปฏิบัติงาน ไม่ใช้มือจับด้านนอกของหน้ากากอนามัย

9.ไม่ไอหรือจามใส่อาหาร ไม่สัมผัสน้ำมูก น้ำลาย น้ำตา เสมหะ และสิ่งสกปรกระหว่างตักอาหาร

10.ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที ล้างน้ำสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์

สำหรับท่านใดที่สนใจสื่อต่าง ๆ ของโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ http://sonkthaiglairok.com/ และเพจเฟซบุ๊ก https://web.facebook.com/sonkthaiglairok

สสส. ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกคน หันมาใส่ใจเลือกอาหารใส่บาตร เพื่อให้พระสงฆ์ไทย มีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรคภัยต่าง ๆ ด้วยการถวายอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ลดการถวายอาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็ม หลีกเลี่ยงการถวายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง และที่สำคัญในการถวายอาหารแด่พระสงฆ์นั้น ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ทั้งในขั้นตอนของการประกอบอาหารและถวายอาหาร เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแด่พระสงฆ์ในวันมาฆบูชาปีนี้ ให้คุณอุ่นใจได้ว่า การทำบุญในครั้งนี้ จะได้บุญอย่างที่ตั้งใจ และไม่เป็นการทำร้ายสุขภาพของพระสงฆ์