เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 : ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ทิพากร ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ นำคณะผู้บริหาร สป.อว. ร่วมติดตามความก้าวหน้า “โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้การต้อนรับ ในการนี้ ดร.ดนุช ได้นำเสนอทิศทางของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการผลิตและพัฒนากาลังคนขั้นสูงของประเทศในที่ประชุมดังกล่าวด้วย
ดร.ดนุช กล่าวว่า จากการพูดคุยกับนักอนาคตวิทยาต่างๆของ อว. พบว่าอีกประมาณ 30-40 ปี ประชากรของโลกจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของปัจจุบัน แต่การพัฒนาโลกหรือประเทศยังคงต้องดำเนินต่อไปภายใต้จำนวนประชากรที่ลดลง ดังนั้น การเรียนรู้ต่างๆจะต้องมีความกระชับมากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนถึง 4 ปี หรืออาจจะต้องเพิ่มหลักสูตร Non Degree มากยิ่งขึ้นเพื่อให้ทันต่อการใช้งาน และต้องมีหลักสูตรที่สามารถนำผู้สูงวัยที่ยังทำงานได้มา upskill-reskill เพื่อที่จะมาช่วยกันพัฒนาประเทศท่ามกลางจำนวนประชากรที่ลดลง
นอกจากนี้การเรียนรู้แบบเดิมที่เคยเรียนรู้กันมา 4 ปีแล้วจึงออกไปทำงานอาจจะไม่พอ เพราะคนรุ่นใหม่เขาจะมีความต้องการใน Degree หรือวุฒิการศึกษาน้อยลงไป เขาต้องการเรียนอะไรที่กระชับแล้วสามารถออกไปทำงานได้เลย นโยบายของ อว. เองก็พยายามที่จะปรับปรุงในส่วนนี้ ปรับปรุงการเรียนให้กระชับมากยิ่งขึ้น ตรงกับความต้องการของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ขยายเวลาให้กับนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก และปริญญาตรีในอนาคตว่าไม่มีระยะเวลากำหนดในการจบการศึกษา ในบางครั้งนักศึกษาเรียนรู้ไป 2 ปี แล้วอาจจะต้องออกไปทำงาน เปลี่ยนงาน จะสามารถขอขยายเวลาจบการศึกษาออกไปได้ แต่ยังคงต้องรักษาสถานภาพและผลการเรียนให้ยังคงต้องทำอยู่ในมาตรฐานของมหาวิทยาลัย
อีกส่วนหนึ่งที่ อว. พยายามจะชวนคิดคือ การชวนภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมต่างๆมาร่วมกันออกแบบหลักสูตร ลงนาม MOU ว่าหลังจากผลิตบัณฑิตออกไปแล้วเขาจะสามารถรับบัณฑิตของเราไปทำงานได้ การที่ได้รับเกียรติจากโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯให้ไปร่วมการติดตามผลนั้นทำให้ได้รับมุมมอง วิสัยทัศน์ต่างๆที่เห็นว่ากำลังก้าวไปในทิศทางที่สอดคล้องกันทั้งแนวทางปฏิบัติและสอดคล้องกับนโยบายของ รมว.อว.
เดือนพฤษภาคมนี้เราน่าจะผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดอีกประมาณ 3-400,000 คนทั่วประเทศ โจทย์หนึ่งที่ อว. และกระทรวงแรงงานมีความกังวลอยู่คือการได้งานของเด็กจบใหม่จะเป็นอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์โควิด และในทุกครั้งที่มีการพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมหรือหอการค้า ก็มีความเป็นห่วงในเรื่อง soft skill การทำงานเป็นทีม ความอดทน ในโลกยุคใหม่ที่เด็กที่ถูกพัฒนาขึ้นมาท่ามกลางความรวดเร็วของเทคโนโลยีอาจจะทำให้เขาขาดความอดทน การสร้าง soft skill อาจจะต้องแทรกเข้ามาในหลักสูตรตั้งแต่ปี 1 จนถึงปีสุดท้าย เติมให้เขาผ่านการทำงาน กิจกรรมต่างๆ และในอนาคตนั้น soft skill มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่าความรู้ทางด้านวิชาการและสมรรถนะในการทำงาน ดร.ดนุช กล่าวในตอนท้าย
การติดตามความก้าวหน้า “โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” นี้ ดร.ดนุชและคณะได้เข้าเยี่ยมชมและรับฟังการรายงานผล รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานในหลักสูตรสารสนเทศศาสตรบัณฑิต หลักสูตรการพลิกโฉมการดูแลสุขภาพด้วยแนวคิดดิจิทัล การเพิ่มทักษะการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ หลักสูตรเทคโนโลยีสมัยใหม่กับการพัฒนอุตสําหกรรมการเกษตร หลักสูตรระบบกํารผลิตแบบอัจฉริยะสําหรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร หลักสูตรอุตสาหกรรมการบริหารจัดการเกษตร หลักสูตรเกษตรศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาเกษตรนวัตกรรม และหลักสูตรเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์พืชสมัยใหม่