บ่ายวันที่ (18 มี.ค. 62) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการพร้อมเยี่ยมประชาชนผู้ประสบภัยพายุโซนร้อน “ปาบึก” โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้อำนวยการกองแผนงาน นายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายวานิช แก้วประจุ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครศรีธรรมราช นายศักดิ์ดา อยู่เดช ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครศรีธรรมราช นายสุรพงศ์ เจริญการยนต์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังล่าง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมชลประทานตลอดจนประชาชน ให้การต้อนรับ ณ วัดหน้าพระลาน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ ในส่วนของกรมชลประทาน ในช่วงที่เกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน ปาบึก นั้น ได้ร่วมกับจังหวัดนครศรีธรรมราช ในการนำเครื่องจักรกลเพื่อช่วยเหลือบรรเทาอุทกภัยตามจุดที่สำคัญ คือ
– บริเวณท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง
– บริเวณเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และพื้นที่รอบๆ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 17 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 18 เครื่อง เร่งระบายน้ำลงสู่คลองหลักต่างๆ ก่อนระบายออกสู่ทะเลตามลำดับ ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาลนครศรีธรรมราชคลีคลายลงได้ในเร็ววัน
ส่วนพื้นที่ปลูกส้มโอทับทิมสยาม ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชกว่า 2,800 ไร่ มีน้ำท่วมขัง 1,600 ไร่ โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 16 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 18 เครื่อง รถขุดตัก จำนวน 6 คัน เร่งระบายน้ำและขุดลอดเศษสวะที่ขวางทางน้ำจนสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ลดความเสียหายของสวนส้มโอทับทิมสยาม พืชเศรษฐกิจของจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใน 3 วัน (วันที่ 8-10 ม.ค.62)
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 162 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 75 โดยแบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 4 แห่ง ทั้งยังเป็นอ่างเก็บน้ำตามโครงการพระราชดำริ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส อ่างเก็บน้ำคลองกะทูน อ่างเก็บน้ำเสม็ดจวน และอ่างเก็บน้ำคลองดินแดง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 75 และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 4 แห่ง ทั้งยังเป็นอ่างเก็บน้ำตามโครงการพระราชดำริ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 820,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 100 แหล่งน้ำอื่นๆ (แก้มลิง ฝาย ฯลฯ) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 70
สำหรับแผนการใช้น้ำในฤดูแล้งปี 2561/62 ได้ทำการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภคประมาณ 86 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆประมาณ 71 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อภาคการเกษตรประมาณ 360 ล้านลูกบาศก์เมตร สนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งพื้นที่ในเขตชลประทานประมาณ 576,378 ไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 424,356 ไร่
ด้านแผนป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีแหล่งน้ำต้นทุนในเขตชลประทานประมาณ 375 ล้านลูกบาศก์เมตร แหล่งน้ำต้นทุนนอกเขตชลประทาน ประมาณ 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ยังไม่พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ทั้งนี้กรมชลประทานได้เตรียมมาตรการแนวทางให้ความช่วยเหลือ โดยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิเช่น รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ รวมทั้งเฝ้าระวังและติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำจากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(swoc) ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวม 56 โครงการ โครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริก่อสรางแล้วเสร็จจำนวน 49 โครงการ โครงการฯที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวน 7 โครงการ ปัจจุบันสามารถบรรเทาอุกทกภัยในเขตเทศบาลนครศรีธรรมราช สำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร และส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 17,400 ไร่