กรมอนามัย คุมเข้มศาสนสถานรับวันมาฆบูชา ย้ำ หากสูงวัยติดเชื้อโควิด-19 ต้องดูแลตัวเองเคร่งครัด

​วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วย นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และ นายแพทย์นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยผู้สูงอายุ แถลงข่าว “ดูแลผู้สูงวัย ศาสนสถานปลอดภัย ในสถานการณ์โควิด-19”

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ศาสนสถานที่จัดงานบุญเนื่องในวันมาฆบูชา ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัย COVID Free Setting อย่างเคร่งครัดในทุก ๆ ด้าน เพื่อสร้างความปลอดภัย ส่วนประชาชนที่ร่วมงานต้องมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม โดยเฉพาะการสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อร่วมงาน ซึ่งจากผลการสำรวจอนามัยโพลเกี่ยวกับพฤติกรรมการสวมหน้ากากของประชาชนภายในวัด จากข้อมูลผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 30,000 ราย พบว่า มีพฤติกรรมการสวมที่ถูกต้อง โดยเฉลี่ยร้อยละ 87 สวมไม่ถูกต้องหรือไม่สวม ร้อยละ 13 นอกจากนี้ ผลการสำรวจอนามัยโพลต่อประเด็นการดำเนินการตามมาตรการของวัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ พบว่า มาตรการที่ทำได้ดี ได้แก่ การควบคุมการเข้าออก และมีจุดคัดกรอง รองลงมาคือ มีจุดบริการล้างมือ หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ ให้มีการสวมหน้ากากตลอดเวลา

ส่วนมาตรการที่ควรเพิ่มเติม เนื่องจาก ทำได้น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ การพบเห็นใบประกาศ COVID Free Setting จากการประเมินตนเองของวัด การคัดกรองความเสี่ยงของตนเองผ่าน Thai Save Thai หรือ Application อื่น ๆ ถังขยะที่มีฝาปิด ไม่ล้นออกมา รวมถึงการดูแลทำความสะอาดร่วมและห้องน้ำ ในขณะที่การประเมินตนเองของวัด จำนวน 2,997 แห่ง พบว่า มีวัดถึงร้อยละ 93 ผ่านเกณฑ์การประเมินมาตรการความปลอดภัย โดยมาตรการที่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ร้อยละ 7 ไม่ผ่านเกณฑ์ ได้แก่ การดูแลทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมและห้องน้ำ ผู้นำหรือผู้ประกอบพิธีกรรมได้รับวัคซีน ครบตามเกณฑ์ และตรวจหาเชื้อโดย ATK ภายใน 72 ชั่วโมง รวมทั้งการทำบุญแบบลดการสัมผัสผ่านระบบ e-donation

​“ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่เข้าวัดทำบุญ ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะจากข้อมูลสถานการณ์ การติดเชื้อและเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ถึง กุมภาพันธ์ 2565 พบการติดเชื้อในผู้สูงอายุสะสม 237,759 คน เฉพาะในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนผู้สูงอายุติดเชื้อทั้งหมด 34,918 คน เสียชีวิต 569 คน โดยจังหวัดที่ผู้สูงอายุติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นเขตเมือง เช่น กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ชลบุรี และ ขอนแก่น เป็นต้น ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อมาจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน มากกว่าร้อยละ 50 นอกจากนี้ ในส่วนของวัคซีนพบว่า ผู้สูงอายุประมาณ 9.8 ล้านคน ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และได้รับเข็ม 3 ประมาณ 3.3 ล้านคน ขณะที่อีกกว่า 2.2 ล้านคน ยังไม่ได้รับวัคซีน อาจทำให้เสี่ยงได้รับเชื้อโควิดได้ง่ายกว่าผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีน ดังนั้น ศาสนสถานที่จัดงานจึงต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัดด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

​ทางด้าน นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมการศาสนา ได้ให้ทุกศาสนาสถานดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting ของกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 3 ด้าน คือ

1) ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่ จัดเตรียมและประเมินความพร้อมของศาสนสถานและจัดให้มีการคัดกรองอุณหภูมิ ของผู้เข้ามาในศาสนสถาน จัดให้มีจุดบริการล้างมือหรือแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานที่จัดกิจกรรมอย่างเพียงพอ ทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังในบริเวณที่มีการจัดกิจกรรม จัดพิธีโดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง หรือจัดงานให้กระชับและสั้นที่สุดเท่าที่จำเป็น และผู้ที่มาร่วมกิจกรรมต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา เป็นต้น

2) ด้านผู้นำศาสนา ผู้ประกอบพิธีกรรม และเจ้าหน้าที่ ได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด มีการประเมินคัดกรองความเสี่ยงของตนเอง หากมีความเสี่ยงสูงต้องมีผลตรวจ ATK เป็นลบก่อนเข้าร่วมกิจกรรม งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน/ร่วมพิธีกรรม หรือระหว่างพัก และงดกินอาหารร่วมกัน เป็นต้น

3) ด้านผู้เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ควรได้รับการฉีดวัคซีน ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด มีการประเมินความเสี่ยงผ่าน “ไทยเซฟไทย” หรือ แอปพลิเคชั่นอื่น ๆ ที่ทางราชการกำหนด หากมีความเสี่ยงสูงต้องมีผลตรวจ ATK เป็นลบก่อนเข้าร่วมกิจกรรม มีการกำกับติดตามให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติ ตามหลัก UP (Universal Prevention) และมาตรการ DMHTA อย่งเคร่งครัด และสามารถเลือกวิธีการทำบุญ ผ่านแอปพลิเคชั่น ผ่านระบบบริจาค e-Donation เพื่อลดการสัมผัส

ทางด้าน นายแพทย์นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กล่าวว่า ในกรณี ที่ผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด-19 หากเป็นผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง มีอายุน้อยกว่า 75 ปี ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ผู้ดูแลต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา หากจำเป็นต้องสัมผัสผู้ป่วย ต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ หน้ากากอนามัย และให้ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส และใช้เวลาให้สั้นที่สุด ทำความสะอาดที่อยู่อาศัยด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อชนิดต่าง ๆ จัดเตรียมอาหาร พร้อมแยกภาชนะสำหรับผู้ป่วย รวมทั้งแยกทำความสะอาดหรือกำจัด เสื้อผ้า ของใช้ ขยะของผู้ป่วยจากบุคคลอื่น ๆ ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 75 ปี หรือมีอาการหอบเหนื่อยควรนำส่งสถานพยาบาล และในกรณีเป็นผู้สูงอายุติดบ้าน ติดสังคม ติดเชื้อโควิด-19 สามารถแยกกักตัวแบบ Home Isolation ได้ หากเตียงในโรงพยาบาลมีจำกัด หรือระหว่าง รอเตียงในโรงพยาบาล โดยให้งดบุคคลอื่นมาเยี่ยมระหว่างแยกตัว และงดออกจากบ้าน หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่น ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ แยกของใช้ส่วนตัว ไม่กินอาหารร่วมกับผู้อื่น และสังเกตอาการตนเอง ด้วยการวัดอุณหภูมิและความอิ่มตัวของออกซิเจนทุกวัน

หากอาการแย่ลง เช่น หอบเหนื่อย ให้รีบติดต่อโรงพยาบาล สำหรับข้อปฏิบัติของญาติ หรือผู้ดูแล ที่ดูแลผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน ต้องเฝ้าติดตามอาการของผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด คอยสังเกตอาการผู้สูงอายุ โดยวัดอุณหภูมิ และ Oxygen saturation ทุกวัน หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าค่าปกติของระดับออกซิเจนที่วัดได้ อยู่ที่ 96-100 เปอร์เซ็นต์ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที
***
กรมอนามัย / 15 กุมภาพันธ์ 2565