กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน สารเคมีปนเปื้อนโลหะหนักจากแหล่งล้างถังเคมีเถื่อนไหลลงคลองอีสานเขียว หวั่น ผลกระทบต่อน้ำอุปโภคและบริโภค แนะประชาชนในพื้นที่เลี่ยงใช้น้ำและป้องกันตนเอง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีข่าวพบน้ำทิ้งปนเปื้อน โลหะหนักจากแหล่งล้างถังเคมีเถื่อนไหลลงคลองอีสานเขียวในพื้นที่องค์กรบริหารส่วนตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา นั้น จากข้อมูลพบว่าสารเคมีดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นประเภทสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน สารไวไฟ โดยผู้ประกอบการนำถังบรรจุสารเคมีมาล้าง และมีการเทสารเคมีทั้งหมดลงในบ่อน้ำ บ่อซีเมนต์ที่ไม่มีระบบการบำบัดและไม่มีกระบวนการจัดการสารเคมีไม่ให้ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำอย่างถูกต้อง ทำให้สารทั้งหมด สามารถซึมลงในน้ำใต้ดินและไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งผลการตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษพบว่า มีค่าวัดคุณภาพน้ำเสียจากสารเคมี COD (Chemical Oxygen Demand) เท่ากับ 26,800 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานการควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ. 2560 ที่กำหนดมาตรฐาน COD ไม่เกิน 120 มิลลิกรัมต่อลิตร
รวมทั้งพบการปนเปื้อนโลหะหนัก มีทั้งแคดเมียม นิกเกิล โครเมียม และสารหนู โดยเฉพาะสารแคดเมียมที่มีค่าเกินมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินกำหนด คือพบประมาณแคดเมียม 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร เกินมาตรฐานที่กำหนด ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้เพื่อการเลี้ยงสัตว์ หรือการบริโภค ซึ่งสารเคมีจากบ่อน้ำทิ้ง อาจปนเปื้อนลงในคลองอีสานเขียว และอ่างเก็บน้ำบ้านซับชุมพล อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลกระทบต่อประชาชนในบริเวณใกล้เคียงได้
“ทั้งนี้ การนำน้ำในบริเวณดังกล่าวไปใช้เพื่ออุปโภคและบริโภค อาจทำให้ร่างกายได้รับสารเคมีปนเปื้อนได้ เช่น แคดเมียม โครเมียม และสารหนู ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพแบบฉับพลันที่พบได้บ่อย คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีมูกเลือดปน ปวดท้องรุนแรง มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ภาวะไตล้มเหลว ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดศรีษะ เพ้อ สับสน การเคลื่อนไหวช้า ทำลายลำไส้และตับ หากได้รับปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการช็อคและเสียชีวิต ดังนั้น ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่บริเวณโดยรอบสถานประกอบการ ที่มีการล้างถังบรรจุสารเคมีอันตราย ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
1) ติดตามข้อมูลข่าวสารจาก หน่วยงานราชการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อทราบสถานการณ์ เฝ้าระวัง และสามารถเตรียมการในการ ป้องกันตนเองและครอบครัวจากการรับสัมผัสสารเคมีในสิ่งแวดล้อม
2) หลีกเลี่ยงการนำน้ำจากแหล่งน้ำ ที่มีการปนเปื้อนสารเคมีมาใช้อุปโภค บริโภค ตลอดจนนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดความเสี่ยง และผลกระทบ ต่อสุขภาพ
3) สังเกตอาการตนเอง หากได้รับกลิ่นสารเคมี หรือภายหลังจากมีการนำน้ำจากแหล่งน้ำ ที่มีการปนเปื้อนสารเคมีมาใช้อุปโภค บริโภค หากพบอาการผิดปกติของร่างกาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ และพบแพทย์ทันที
4) เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยเรื้อรัง ด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ จากการรับสัมผัสสารเคมีทั้งการได้รับสัมผัสทางการหายใจ และการใช้น้ำ จากแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน โดยให้สังเกตอาการและผลกระทบทางสุขภาพอย่างต่อเนื่อง หากมีความผิดปกติ และอาการข้างเคียงอื่น ๆ ให้ไปพบแพทย์ทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 15 กุมภาพันธ์ 2565