สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค “Building Asia-Pacific Individual Monitoring (IMS) Capabilities toward Regional Sustainable Network” ระหว่างวันที่ 18 – 20 มีนาคม 2562 ภายใต้งาน ASEAN Next 2019 (โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เชิญชวนผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์และรังสีในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ร่วมจัดตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการประเมินรังสีประจำตัวบุคคลในภูมิภาคอาเซียน หวังพัฒนาและยกระดับศักยภาพ ห้องปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการขอการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025
วันที่ (18 มีนาคม 2562) นางรัชดา เหมปฐวี รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน “ASEAN Next 2019: STL Leading towards Community Happiness” ซึ่งจัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ โรงแรมพูลแมน เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) โดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน โดยกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างอาเซียนกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศคู่เจรจาในการจัดงานประจำปีนี้ และจะมีการจัดทำแผนกิจกรรมความร่วมมือรายสาขาที่สำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของประชาคม รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน วทน. ในสาขาที่ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาคมเชิงเศรษฐกิจที่สามารถเพิ่มรายได้และทักษะในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ในประชาคมได้ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมซึ่งจะนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนในประชาคมอาเซียนต่อไป
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นางรัชดา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค เรื่อง “Building Asia-Pacific Individual Monitoring (IMS) Capabilities toward Regional Sustainable Network” ซึ่งจัดโดย ปส. ระหว่างวันที่ 18 – 20 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมพูลแมน เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) รวมทั้งมีการเยี่ยมชม ห้องปฏิบัติการวัดรังสีมาตรฐานทุติยภูมิ และเยี่ยมชมการดำเนินงานต่าง ๆ ของ ปส. อีกด้วย ทั้งนี้ การจัดประชุมฯ ระดับภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้งาน ASEAN Next 2019 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการประเมินรังสีประจำตัวบุคคล (IMS) ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก การเปรียบเทียบผลการประเมินระหว่างห้องปฏิบัติการฯ (Proficiency Testing: PT) ให้สามารถสอบย้อนกลับไปสู่ระดับปฐมภูมิและหน่วยพื้นฐาน (SI Unit) รวมถึงเป็น การพัฒนาและยกระดับการประกันคุณภาพเพื่อสนับสนุนการขอการรับรองระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ของห้องปฏิบัติการในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก โดยเชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ด้านนิวเคลียร์และรังสีกว่า 40 คน จากประเทศสมาชิกอาเซียน เอเชียตะวันออก และหน่วยงานในประเทศไทย อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และเจ้าหน้าที่ ปส. เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งทบทวนกรอบและแผนการดำเนินงานในระดับภูมิภาคเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาเครือข่ายอย่างยั่งยืนต่อไป
นางรัชดา กล่าวในตอนท้ายว่า การประเมินรังสีประจำตัวบุคคลของผู้ปฏิบัติงานทางรังสีจะดำเนินการ โดยห้องปฏิบัติการประเมินรังสีประจำตัวบุคคล (IMS) ของแต่ละประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผลประเมินในการวัด ของห้องปฏิบัติการฯ เหล่านี้ จะต้องมีความถูกต้องแม่นยำ เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งประชาชนทั่วไปเกิดความมั่นใจและมีความปลอดภัยในการนำวัสดุและเครื่องกำเนิดรังสีมาใช้งาน การจัดตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการฯ IMS ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกในครั้งนี้ มีประโยชน์อย่างยิ่งในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ด้านการวัดรังสีของแต่ละประเทศ รวมทั้งการเปรียบเทียบผลการประเมินระหว่างห้องปฏิบัติการฯ (PT) เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นำไปสู่การรับรองระบบมาตรฐานของห้องปฏิบัติการฯ ในภูมิภาคอย่างครบถ้วนต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาระบบและมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 1419