รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย ได้หารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังไม่ได้ข้อสรุปเลื่อนปลด “โควิด” จากโรคฉุกเฉินวิกฤตเป็น 1 เมษายนหรือไม่ แต่ได้รับมอบหมายให้หารือเพิ่มเติม ทั้งข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบ ประกันภัย ผู้ป่วยโควิดที่มีโรคร่วม จำนวนผู้ติดเชื้อ และสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องการไปรับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ที่โรงแรงพูลแมน ซอยรางน้ำ กทม. ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีเสนอให้เลื่อนปลดโรคโควิด 19 จากโรคฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) จากวันที่ 1 มีนาคม เป็นวันที่ 1 เมษายน 2565 ว่า ได้หารือกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งได้มอบหมายให้ตนประชุมหารือกับ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน
“ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศปลดโควิดจากโรคฉุกเฉินวิกฤต อยู่ระหว่างการร่างประกาศ ซึ่งเดิมสถานการณ์การติดเชื้อไม่สูงมาก แต่หลังจากเทศกาลตรุษจีนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากประชาชนยังไม่ได้รับทราบข้อมูลมากพอ อาจเกิดปัญหาเมื่อไปรับบริการได้ จึงต้องใช้เวลาในการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า เมื่อประกาศยกเลิก UCEP โควิด ต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ หากไปโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิ
ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เหมือนกับการรักษาโรคอื่น ๆ ตามปกติ” ดร.สาธิตกล่าว
ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังต้องหารือเรื่องอื่น ๆ ด้วย ทั้งปัญหาการตีความประกันภัย อัตราการครองเตียง ที่ต้องคำนึงถึงผู้ติดเชื้อโควิดที่มีโรคร่วม เช่น มะเร็ง ซึ่งแม้จะไม่มีอาการแต่มีความจำเป็นต้องใช้เตียงที่มีศักยภาพ และหากมีการติดเชื้อสูงขึ้นอาจยังต้องใช้ศักยภาพของโรงพยาบาลเอกชนด้วย รวมถึงกรณีพื้นที่ กทม. ผู้ที่อยู่อาคารชุดหรือคอนโด หากนิติบุคคลไม่ให้กักตัว ก็อาจต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนที่มีฮอสปิเทล จึงควรต้องมีเป็นทางเลือกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้าได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสื่อสารกับประชาชนต่อไป
************************************** 14 กุมภาพันธ์ 2565