กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์หมอกควันและเฝ้าระวังภัยสุขภาพของประชาชนในภาคเหนืออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงควรใส่หน้ากากอนามัยขณะอยู่กลางแจ้ง และปฏิบัติตามหลัก (3 ม.) “ไม่เผา ไม่เสี่ยง ไม่ป่วย” รวมถึงแนะนำประชาชนในพื้นที่เสี่ยงติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการ

วันที่ (17 มีนาคม 2562) นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ทำให้สภาพอากาศในช่วงนี้ร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีภูมิประเทศที่อยู่สูงและเป็นป่าเขา จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าได้ง่าย ประกอบกับมีการเผาขยะต่างๆ และเผาไร่สวนเพื่อเตรียมที่ดินไว้สำหรับทำการเกษตร ดังนั้นปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือจึงยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน

ปัญหาหมอกควัน ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงป่วยจาก 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย เท้าบวม หัวใจเต้นเร็ว 2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ 3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย และ 4.กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา ตาแดง น้ำตาไหล และมองภาพไม่ค่อยชัด ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น  หากได้รับมลพิษจากหมอกควันเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้สั่งการไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ให้ดำเนินมาตรการและหาแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันที่มีประสิทธิภาพ โดยร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และได้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่เพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันทันที รวมถึงสนับสนุนวัสดุ เช่น หน้ากากอนามัย เพื่อการดำเนินการของหน่วยงานในพื้นที่ และเพื่อป้องกันหมอกควันให้กับกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่หมอกควันสูง ตลอดจนกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น คนที่ต้องทำงานหนักกลางแจ้งเป็นระยะเวลานานๆ เช่น ตำรวจจราจรที่ทำงานกลางแจ้ง วินมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ขับขี่นานๆ คนงานที่ทำงานที่ก่อให้เกิดฝุ่น เป็นต้น

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงยึดหลัก (3 ม.) ได้แก่ 1.ไม่เผา โดยขอความร่วมมือจากชุมชนให้หยุดการเผาไร่สวน และขยะต่างๆ 2.ไม่เสี่ยง โดยขอความร่วมมือประชาชนไม่ทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานในช่วงที่มีค่าปริมาณผลการตรวจวัดฝุ่นเกินค่ามาตรฐานหรือมีระดับที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และมีการสื่อสารความเสี่ยง แจ้งเตือน และให้ความรู้เรื่องมลพิษหมอกควันแก่ประชาชนทุกระดับในชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสหมอกควัน และ 3.ไม่ป่วย มีการป้องกันตนเอง ในสถานการณ์หมอกควันรุนแรง              และนอกจากนี้ ขอแนะนำประชาชน ควรติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐเป็นประจำ

สำหรับวิธีการป้องกันตัวเองเบื้องต้นให้ปลอดภัยจากหมอกควันคือ ปิดประตูหน้าต่างบ้าน ให้มิดชิด หมั่นทำความสะอาดบ้านโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปริมาณสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็ก และสวมหน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ โดยปิดบริเวณปากและจมูก ส่วนกรณีที่ขับขี่ยานพาหนะในช่วงที่มีหมอกควันมาก ทัศนะวิสัยไม่ดี ควรเปิดไฟหน้ารถ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

*******************************************************

ข้อมูลจาก : สำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค