กระทรวงสาธารณสุข เผย ขณะนี้ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตยังคงตัว เทียบกับช่วงที่พบผู้ป่วยสูงสุด ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตต่ำกว่า 10 เท่า เตือน 23 จังหวัดที่มีแนวโน้มติดเชื้อสูง ประชาชนต้องป้องกันตนเองเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มเด็กสัปดาห์ที่ผ่านมาพบติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งจากครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ขอให้ฉีดวัคซีน เว้นระยะห่างจากผู้สูงอายุ ป้องกันติดเชื้ออาการรุนแรง
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และ นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 และความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด 19
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขปรับการรายงานสถานการณ์โควิด 19 โดยเน้นติดตามจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบและเสียชีวิตมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตวันนี้ 20 ราย ทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบมี 563 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 114 ราย เทียบกับวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด และมีผู้ป่วยปอดอักเสบ 5.6 พันราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1.1 พันราย ขณะนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 1 ใน 10 เท่านั้น เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่กำลังรักษาขณะนี้ 105,129 ราย เป็นเพียงครึ่งเดียวจากช่วงที่ติดเชื้อสูงสุด
ส่วนผู้ติดเชื้อรายวัน แนวโน้มยังสูงขึ้นต่อเนื่องจากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการและมีกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น จังหวัดที่ติดเชื้อสูง 23 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ระยอง ปราจีนบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี และ กทม. ขอให้ประชาชนในจังหวัดหรือผู้เดินทางเข้าจังหวัดเหล่านี้ ระมัดระวังป้องกันตนเองอย่างเข้มข้น สวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่างจากผู้อื่น การรับประทานอาหารร่วมกันขอให้เว้นระยะห่าง โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เลี่ยงการพูดคุย เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ
สำหรับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบกลุ่มเด็ก 0-9 ปี และวัยรุ่น 10-19 ปี มีการติดเชื้อสูงขึ้น โดยกลุ่มอายุ0-4 ปี และ 5-9 ปี ส่วนใหญ่ติดเชื้อในครอบครัว กลุ่มอายุ 10-14 ปี และ 15-19 ปี เป็นการติดเชื้อในโรงเรียน ส่วนการสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกบ้านและในชุมชน เป็นกลุ่ม 15-19 ปี ทั้งนี้ หากมีการติดเชื้อในบ้าน โดยเฉพาะเด็กเล็ก ขอให้เว้นระยะห่างจากผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เพราะอาจติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป จะมีอัตราติดเชื้อเสียชีวิตสูงกว่าเด็กเล็กถึง 200 เท่า จึงต้องรณรงค์ให้มารับวัคซีนทั้งในเด็กและผู้สูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต
ด้าน นพ.วิชาญ กล่าวว่า การระบาดในระลอกนี้พบผู้ป่วยเด็กกลุ่มอายุ 5-11 ปี สูงขึ้น แม้ส่วนใหญ่จะอาการค่อนข้างน้อย แต่ต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในครอบครัว และไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย โดยแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มเด็ก ของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้เชี่ยวชาญทั้งในคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาผลการขึ้นทะเบียนกับ อย. พิจารณาอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานข้อมูลวิชาการทั้งมาตรฐานและความปลอดภัยผลการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประสิทธิผลด้านการป้องกันการติดเชื้อ การป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนที่ผ่านการพิจารณาให้ฉีดในกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้แก่ ไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) สำหรับอายุ 5-11 ปี, ไฟเซอร์ (ฝาสีม่วง) สำหรับอายุ 12-17 ปี และ ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม สำหรับอายุ 6-17 ปีขึ้นไป และสูตรไขว้ ซิโนแวคและไฟเซอร์ สำหรับอายุ 12-17 ปี โดยตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2565ฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี ไปแล้ว 66,165 คน จากทั้งหมด 5.1 ล้านคน ยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีน
ทั้งนี้ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน ข้อมูลล่าสุดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว 117,094,785 โดส พบอาการไม่พึงประสงค์ คือการแพ้ชนิดรุนแรงในซิโนแวคมากกว่าชนิดอื่น ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พบในไฟเซอร์มากกว่าชนิดอื่น และภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ พบในแอสตร้าเซนเนก้ามากกว่าชนิดอื่น อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มเด็ก พบว่ามีอัตราป่วยตายจากโรคโควิด 2 รายในหมื่นราย แต่หากฉีดวัคซีนแล้ว อัตราการตายลดลงเป็นพันเท่า ดังนั้น หากฉีดวัคซีนจะมีประโยชน์มากกว่าในการช่วยป้องกันการป่วยตายในเด็กได้ดี
************************************** 10 กุมภาพันธ์ 2565