วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นายเก่งกาจ คุปต์อัครภิญโญ ผู้แทนสมาคมตลาดสดไทย แถลงข่าว “ตลาด” จับจ่ายปลอดภัย ด้วยมาตรการ COVID Free Setting
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า มีการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนในตลาด กระจายในกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ควบคุม สีส้ม พื้นที่เฝ้าระวังสูง สีเหลือง และพื้นที่ท่องเที่ยว สีฟ้า โดยในช่วงระยะเวลากว่า 1 เดือน นับตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2565 พบมีแนวโน้ม การติดเชื้อในตลาดสูงกว่า Setting อื่น ๆ สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเข้มข้นคือ การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเพื่อให้ การติดเชื้อในตลาดลดลง เนื่องจากที่ผ่านมา สาเหตุของการติดเชื้อโควิด-19 คือ การมองข้ามความเสี่ยงในจุดเล็ก ๆ แต่กลับทำให้เป็นแหล่งของการแพร่เชื้อได้ ซึ่งประชาชนผู้จับจ่ายสินค้าต้องให้ความสำคัญ และระมัดระวังความเสี่ยงนั้น ให้มากขึ้น ได้แก่
1) การสัมผัสธนบัตร และเศษเหรียญ
2) การสัมผัสผักและผลไม้
3) การสัมผัสเนื้อสัตว์
4) มีเชื้อโรคปะปน มากับถุงพลาสติก
5) ไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างใช้บริการ
ดังนั้น การล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งเหล่านี้ ก็จะช่วย ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 ได้ และที่สำคัญขณะใช้บริการภายในตลาด ให้สวมหน้ากากตลอดเวลาด้วย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากผลการประเมิน COVID Free Setting สถานประกอบการประเภทตลาดพบว่า มาตรการที่ดำเนินการได้มากที่สุด คือ มีการทำความสะอาดแผงจำหน่ายอาหารทุกวัน ล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาล 1 ครั้ง/สัปดาห์ จัดให้มีการระบายอากาศที่เพียงพอ มีการกำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด มีทะเบียนแผงค้า ผู้ขาย ผู้ช่วยขาย ที่เข้ามาจำหน่ายสินค้า ส่วนมาตรการที่ยังดำเนินการได้ไม่ดี คือ มีการคัดกรองความเสี่ยงผู้รับบริการด้วย “ไทยเซฟไทย” มีผู้รับผิดชอบกำกับ ติดตาม Timeline ผู้ขายทุกราย และจัดพนักงานควบคุม จำกัดจำนวนคนไม่เกิน 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร หรือรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร เลือกวิธีการชำระเงิน ด้วยแอปพลิเคชัน เพื่อลดการสัมผัสหรือวิธีอื่น ๆ
“นอกจากนี้ ข้อมูลผลอนามัยโพลที่ได้จากการสังเกตของผู้ที่ไปใช้บริการตลาด ระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 7,000 คน พบว่า สวมหน้ากากถูกต้อง ร้อยละ 81 สวมไม่ถูกต้อง ร้อยละ 19 ส่วนการปฏิบัติตามมาตรการ ที่พบว่า ทำได้ดีกว่า ร้อยละ 78 คือ มีการกำหนดจุดเข้า-ออก และวัดอุณหภูมิก่อนเข้า รองลงมาคือ มีจุดบริการล้างมือ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ ร้อยละ 51.22 และมีการประชาสัมพันธ์ให้สวมหน้ากากตลอดเวลาอย่างถูกต้อง ร้อยละ 46.03 สำหรับในส่วนที่ต้องปรับปรุง ซึ่งยังทำได้น้อย คือ เห็นใบประกาศ COVID Free Setting หรือ Thai Stop COVID Plus ที่ตลาด ร้อยละ 15.68 ภาชนะรองรับขยะมีฝาปิดมิดชิด ร้อยละ 17.75 และมีการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด และเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ร้อยละ 20.26 ดังนั้น ขอให้ผู้ประกอบการตลาดปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัดทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ด้านผู้ให้บริการ และด้านผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งมีการกำกับติดตาม และดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อ เพื่อให้สามารถควบคุมได้ในขอบเขต ของพื้นที่ตลาด ลดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือเกิดคลัสเตอร์ซ้ำ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนผู้ใช้บริการภายในตลาด เพื่อจะได้เลือกซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน นายเก่งกาจ คุปต์อัครภิญโญ ผู้แทนสมาคมตลาดสดไทย กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 สมาคมตลาดสดไทย ได้จัดระเบียบตลาด โดยให้มีการจำกัดทางเข้า-ออก ให้เหลือเพียง 2 ทาง เพื่อคัดกรองพนักงาน และผู้ใช้บริการ มีเจ้าหน้าที่ประจำเพื่อวัดอุณหภูมิ และมีเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการลูกค้า จัดให้มีจุดล้างมือโดยรอบ บริเวณตลาด ผู้ขายและผู้ใช้บริการสวมหน้ากากตลอดเวลา ให้มีการเว้นระยะห่าง แม่ค้าพ่อค้ามีการตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ และทำความสะอาดแผงค้าเป็นประจำ ซึ่งที่ผ่านมา มีตลาดที่ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด อาทิ ตลาดบางใหญ่ มีการประชาสัมพันธ์ทั้งเพจและเสียงตามสาย ตลาดเสนีฟู๊ด มีการเว้นระยะห่าง และมีการติดป้ายพ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ตลาดอ่อนนุช มีการติดป้าย COVID Free Setting และ Thai Stop COVID Plus ตลาดถนอมมิตร มีการเว้นระยะห่างของโต๊ะที่นั่งอย่างดี และตลาดศรีเมือง จังหวัดราชบุรี มีการติดบัตรประจำตัวพ่อค้าแม่ค้าเมื่อได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม เป็นต้น
กรมอนามัย / 9 กุมภาพันธ์ 2565