แพทย์ผิวหนังแนะนำการดูแลแผลไฟไหม้เบื้องต้น

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง แนะนำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับบาดแผลไฟไหม้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้บาดแผลไฟไหม้หายดีขึ้นได้และลดโอกาสในการติดเชื้อทางผิวหนัง อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับบาดแผลจากไฟไหม้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากข่าวกรณีที่มีหญิงอายุ 28 ปี ถูกไฟลุกไหม้ทั่วตัว หลังจากใช้สเปย์แอลกอฮอล์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อตามตัว แล้วแอลกอฮอล์เกิดติดไฟลุกไหม้ และพบว่า ร่างกายถูกไฟไหม้มากกว่า 60% และเป็นแผลพุพองนั้น ทั้งนี้ การใช้แอลกอฮอล์ฉีดพ่นตามเสื้อผ้า สิ่งของ หรือฉีดบริเวณผิวหนังเองก็ตาม ต้องมีความระมัดระวังในการใช้ เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นวัตถุไวไฟ ถ้ายังไม่แห้งหรือระเหยจะทำให้สามารถติดไฟได้ง่าย การเกิดบาดแผลจากไฟไหม้ แผลพุพอง น้ำร้อนลวก บริเวณผิวหนัง ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผิวหนังจะมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค สารเคมี รังสีต่าง ๆ รวมถึงมีส่วนในการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิของร่างกาย มีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่เป็นจำนวนมาก

สำหรับบาดแผลจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกที่บริเวณผิวหนัง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ตามความลึกของบาดแผล คือ

1) แผลลึกระดับที่ 1 (First-degree burn) การบาดเจ็บอยู่เฉพาะที่ชั้นหนังกำพร้า เป็นชั้นผิวหนังส่วนตื้น แผลอาจมีลักษณะคล้ายผิวหนังไหม้จากการโดนแสงแดดจัด อาการที่พบ เจ็บแสบ แดง และแห้ง ไม่มีลักษณะของตุ่มน้ำให้เห็น หายได้เองภายใน 7 – 14 วัน

2) แผลลึกระดับที่ 2 (Second-degree burn) การบาดเจ็บลงลึกถึงชั้นหนังแท้ อาการขึ้นอยู่กับความลึกที่ได้รับบาดเจ็บ มักพบตุ่มน้ำ แผลถลอกร่วมด้วย การหายของแผลอาจใช้เวลามากกว่าสองสัปดาห์และมีโอกาสเกิดแผลเป็นหรือสีผิวผิดปกติตามมา

3) แผลลึกระดับที่ 3 (Third-degree burn หรือ Full-Thickness burn) ผิวหนังทุกชั้นถูกทำลายด้วยความร้อน แผลมีลักษณะแห้งแข็ง ไม่ยืดหยุ่น แผลชนิดนี้มักไม่หายเอง ต้องได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง มีโอกาสเกิดการหดรั้งหรือแผลเป็นนูนตามมาได้ค่อนข้างมาก

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับบาดแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก คือ

1. ออกจากแหล่งความร้อนโดยเร็วที่สุด รวมถึงกำจัดแหล่งความร้อนที่จะทำให้บาดแผลลุกลามมากขึ้น เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับที่อยู่บริเวณแผล เป็นต้น

2. ล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติ เพื่อลดความร้อนและทำให้แผลเย็นลง

3. กรณีมีบาดแผลถลอก มีตุ่มน้ำ สีของผิวหนังเปลี่ยนแปลง มีบาดแผลลึก หรือมีแผลไหม้เป็นบริเวณกว้าง สามารถปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาด และให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

4. ไม่ควรทาหรือใช้สารอื่น ๆ ทาลงบนบาดแผล เช่น ยาสีฟัน ไข่ขาว น้ำปลา เนื่องจากอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อที่บาดแผลได้

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นปัญหาที่ควรได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วและถูกต้องตั้งแต่ระยะก่อนมาพบแพทย์ เพื่อลดโอกาสในการลุกลามของบาดแผลและลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงรวมถึงเกิดการติดเชื้อผิวหนังจากบาดแผลไฟไหม้ที่เกิดขึ้นได้ นอกจากปัญหาเรื่องบาดแผลที่ต้องได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ผู้ป่วยยังมีโอกาสเกิดปัญหาอื่น ๆ เช่น การสูญเสียน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย การติดเชื้อ และการสูดดมควันไฟ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

*****************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันโรคผิวหนัง #แผลไฟไหม้
#แพทย์ผิวหนังแนะนำแผลไฟไหม้ดูแลเบื้องต้นอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ
– ขอขอบคุณ-
9 กุมภาพันธ์ 2565