วธ.รวมใจชาวพัทลุงจัดพิธีไหว้ครูโนรา-รำโนราฉลอง 10 ก.พ.นี้ ณ วัดท่าแค ฉลองยูเนสโกขึ้นทะเบียน “โนรา”เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ หนึ่งในกิจกรรมงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯ ภาคใต้ หนุนเยาวชนและประชาชนร่วมสืบสานการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยนโยบายของนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มุ่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เช่น งานฝีมือและหัตถกรรม ศิลปะการแสดง อาหารไทย การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ รวมถึงวธ.มีนโยบายสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน จึงมุ่งส่งเสริมและเปิดพื้นที่ให้ศิลปินศิลปินพื้นบ้านได้มีโอกาสถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดงและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นไปสู่เยาวชนและประชาชน ดังนั้น วธ.ร่วมมือกับจังหวัด หน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายทางวัฒนธรรมจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้จัดเดือนกุมภาพันธ์นี้ ภาคกลางและภาคตะวันออกจัดเดือนเมษายนนี้ที่ จ.ตราด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดเดือนพฤษภาคมนี้ที่จ.กาฬสินธุ์ และภาคเหนือจัดเดือนกรกฎาคมนี้ที่ จ. พิษณุโลก ซึ่งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างงานสร้างรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดของทุกภาค เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯ ภาคใต้จัดขึ้นเป็นพื้นที่แรก ภายใต้ชื่องาน“เสน่ห์เมืองหนังโนรา รังสรรค์ศิลป์ถิ่นใต้” วันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ตลาดน้ำทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา” ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งผูกพันกับชีวิตและเป็นที่นิยมของคนไทยในภาคใต้ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยกิจกรรมส่วนหนึ่งจัดพิธีไหว้ครูโนราและการรำโนราฉลอง เนื่องในการจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯภาคใต้ จัดขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ ณ วัดท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
ทั้งนี้ พิธีไหว้ครูโนราและการรำโนราฉลอง มีครูโนราและนายพรานโนราจากจังหวัดต่างๆในภาคใต้ประกอบพิธีไหว้ครูและพิธีรำถวายครู ได้แก่ รำ 12 คำพรัด เป็นการร่ายรำประกอบการขับบทที่โนราแต่ละคนได้รับการถ่ายทอดมาจากครูอาจารย์แต่ละสายตระกูล อาทิ คำพรัดสรรเสริญครู คำพรัดฝนตกข้างเหนือ คำพรัดไชชาย เป็นต้น รำ 12 เพลง เป็นการรำประกอบท่วงทำนองดนตรีเพื่ออวดความงดงาม ความมีสมาธิ ความขลังที่เป็นความสัมพันธ์ของการใช้มือ เท้า ใบหน้า ลำตัวในกระบวนการรำต่างๆ เช่น รำเพลงสอดสร้อย รำเพลงเคล้ามือ รำเพลงครู เป็นต้น และรำจับบท 12 เป็นการแสดงโดยนำเรื่องราวจากนิทานหรือวรรณคดีไทยต่างๆ 12 เรื่องตามที่บูรพาจารย์ของโนราได้กำหนดและแต่งเป็นบทกลอนของแต่ละเรื่องไว้เพียงสั้นๆเพื่อใช้แสดงมีการเรียงร้อยสัมผัสกันตลอดทั้ง 12 เรื่อง อาทิ พระสุธน-มโนราห์ พระรถเมรี พระลักษณวงศ์ เป็นต้น รวมทั้งมีการรำโนราฉลองโดยเยาวชนและบุคคลทั่วไปจังหวัดพัทลุง ทั้งนี้ การจัดงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิดของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด