แพทย์เฉพาะทาง รพ.นครธน ลงพื้นที่ใกล้ชิดคนไข้ แนะวิธีดูแลสุขภาพสำหรับคน 3 วัย 3 ไลฟ์สไตล์ ในงาน “นครธน แฟมิลี่ คลับ”

จากความโดดเด่นในเรื่องเทคโนโลยีการรักษา ความเชี่ยวชาญของแพทย์ และมาตรฐานการบริการของโรงพยาบาลนครธน ทำให้โรงพยาบาลนครธนพร้อมที่จะเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางเพื่อดูแลทุกครอบครัวของคนย่านพระราม 2 โดยได้ประกาศความพร้อมนี้ผ่านการจัดงาน นครธน แฟมิลี่ คลับ ด้วยสโลแกนอุ่นใจ…เมื่อใกล้กัน ณ ห้างเซ็นทรัล พระราม 2 ซึ่งในงานจัดให้มีกิจกรรมสำหรับคนรักสุขภาพ ทั้งการเปิดรับสมัครสมาชิกบัตรนครธน แฟมิลี่ คลับ ที่มอบสิทธิประโยชน์เมื่อมาใช้บริการ การให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง การตรวจสุขภาพ และแสดงนวัตกรรมการรักษาที่ทันสมัย โดย รศ.ญาณเดช ทองสิมา ให้เกียรติเป็นประธาน และมีคณะผู้บริหารโรงพยาบาลมาร่วมงาน อาทิ ศ.คลินิก นพ.วิโรจน์ กวินวงศ์โกวิท คุณวิศาล สายเพ็ชร์ นพ.วิโรจน์ ตระการวิจิตร และ คุณเพ็ญศิริ ทองสิมา

นอกจากนี้ โรงพยาบานครธน ยังได้เชิญนักแสดงต่างวัยต่างสไตล์มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เรื่องราวสุขภาพของตัวเอง โดยมีแพทย์เฉพาะทางมาให้คำแนะนำที่ผู้ร่วมงานสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อเป็นการดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้

   

เริ่มที่ พญ.วาสนา ปัญจชัยพรพล กุมารแพทย์ทั่วไป รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้ และ พญ.กุลนิดา เต็มชวาลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ที่มาพูดคุยในหัวข้อ ลูกน้อยแข็งแรง วางแผนตั้งแต่แรกคลอด โดยมี โบว์ แวนด้า สหวงษ์ และ น้องมะลิ มาร่วมพูดคุยปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับโรคทั่วไปที่เด็กๆ มักจะเป็นกันบ่อย รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิตและพัฒนาการทางอารมณ์ ซึ่งคุณหมอทั้ง 3 ท่านได้ให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางให้บรรดาคุณพ่อคุณแม่วางแผนดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของลูก โดยกล่าวว่า “เด็กในวัยแรกเกิดจะมีอารมณ์ต่างกัน เลี้ยงง่ายเลี้ยงยากต่างกัน คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้เวลาปรับตัว และต้องเข้าใจพฤติกรรมในแต่ละช่วงวัยของเขา เพื่อที่จะได้ดูแลได้อย่างเหมาะสม เมื่ออายุ 2-3 ขวบ เขาจะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่สนใจคนอื่น มีอาการก้าวร้าว อาละวาด เพราะเขาคิดว่าความคิดของเขาใหญ่ที่สุด ใครที่มากำหนดคือศัตรูของเขา ในวัยนี้จะคุยด้วยเหตุผลไม่ได้ เพราะเขายังไม่มีเหตุผล คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจว่าเป็นพัฒนาการปกติ ถ้าร้องอาละวาด ก็ปล่อยให้แสดงอารมรณ์ไปก่อน ไม่ดุ ไม่ว่า และเพิกเฉย ให้เขาสงบอารมรณ์ตัวเอง เพราะถ้าไปดุว่าเขาจะมีอารมณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับพัฒนาการด้านจิตใจของเด็กในวัย 4 ขวบ จะพบว่าเด็กวัยนี้มีจินตนาการสูง แอคติ้งเก่ง บางคนแกล้งร้องไห้ หรือสมมุติว่าตัวเองเป็นนางฟ้า ก็ให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าเป็นจินตนาการจากการที่เขาไปพบเจอเรื่องราวต่างๆ มา ส่วนเรื่องปัญหาสุขภาพ เด็กวัยนี้ยังเป็นช่วงที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เพราะภูมิต้านทานยังไม่แข็งแรง ยิ่งถ้าไปอยู่ในที่ที่มีคนเยอะ เช่น โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ก็มีโอกาสได้รับเชื้อและไม่สบายได้ง่าย ที่พบบ่อยคือการติดเชื้อทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร หรืออาจติดเชื้อที่รุนแรงขึ้นอย่างไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ อาการภูมิแพ้ในเด็กวัยนื้อย่างน้ำมูกไหล ไข้หวัด ก็พบได้มากขึ้น เมื่อก่อนมีแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้เป็นเพิ่มเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงการแพ้อาหารก็มีบ่อยขึ้น ดังนั้นในช่วงที่ลูกอยู่ในวัยแรกเกิดจนถึง 4 ขวบต้องใส่ใจดูแลอย่างใกล้ชิด ควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติไปหรืออยู่ในระดับที่คุณพ่อคุณแม่ดูแลเองไม่ได้”

 

ผ่านช่วงวัยเด็กไปแล้ว ขยับขึ้นมาพูดคุยกับปัญหาสุขภาพของวัยทำงาน ในหัวข้อ ไขทุกข้อข้องใจ คลายปวดทุกปัญหา กระดูกและข้อ โดยมีดาราสาว รถเมล์ คะนึงนิจ ในฐานะตัวแทนของเวิร์กกิ้งวูเมนที่ทำงานเยอะจนมีอาการปวดเมื่อย และยังมีคุณแม่ที่เริ่มมีอาการปวดเข่า มาร่วมพูดคุยกับ ศ.คลินิก นพ.วิโรจน์ กวินวงศ์โกวิท และทีมศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ ซึ่งคุณหมอได้ไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ว่า อาการปวดเมื่อยตามร่างกายพบได้ทั้งวัยทำงาน และผู้สูงอายุ จึงอยากแนะนำให้ใส่ใจตั้งแต่ท่านั่งถึงท่านอน การนั่งที่ถูกต้อง คือ ก้นต้องชิดพนักพิง โดยพนักพิงควรเอียง 100-110 องศา ถ้ามีหมอนหนุนก็จะทำให้เข้ากับสรีระและนั่งได้นานขึ้น แต่ไม่ควรอยู่ท่าใดท่าหนึ่งเกิน 40 นาที ต้องเปลี่ยนท่าให้กล้ามเนื้อได้คลายตัวเพื่อให้เลือดมาเลี้ยง ถ้าอยู่ท่าเดิมนานๆ เลือดจะไม่หมุนเวียน ทำให้ล้า เกิดการอักเสบ ปวดเมื่อย รวมไปถึงการนั่งรถด้วย ยิ่งผู้สูงอายุ ถ้าต้องนั่งรถนานๆ ควรหาที่หยุดพักเป็นระยะ โดยเฉพาะรถเตี้ย ทำให้งอเข่านาน ข้อเข่าจะติด ควรขยับให้มีเลือดมาเลี้ยง ส่วนเวลานอน หลายคนมักจะเอาหมอนมาหนุนที่เข่า แม้ว่าจะรู้สึกสบายก็จริงแต่ไม่แนะนำ ยิ่งคนที่มีอาการข้อเข่าเริ่มเสื่อมยิ่งต้องเลี่ยง

          สำหรับโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นอีกโรคหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพราะปัจจุบันคนเป็นโรคนี้กันมากขึ้น และเป็นในวัยที่ช่วงอายุน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อก่อนเป็นโรคนี้กันตอนอายุ 60 ปี แต่ปัจจุบัน 50 ปีก็เป็น ปัจจัยเสี่ยง คือ อายุ น้ำหนัก และการใช้งาน อาการของข้อเข่าเสื่อม คือ ผิวข้อจะเริ่มทรุด สึกกร่อน ขรุขระ ทำให้เวลาเดินจะเจ็บ ปวด ระบม ถ้าเป็นเยอะจะทำให้ข้อเข่าโก่งงอผิดรูป หลักการดูแลเบื้องต้น ควรปรับพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการ คนที่นั่งกับพื้น นั่งขัดสมาธิ พับเพียบ ให้เปลี่ยนมานั่งเก้าอี้ หากมีอาการปวด แพทย์จะให้ยาลดปวดลดอักเสบ แต่ถ้ายาไม่ได้ผล จะต้องเอ็กซเรย์เพื่อดูว่าเสื่อมมากน้อยแค่ไหน ถ้าเสื่อมมากต้องผ่าตัด ถ้าเสื่อมระยะท้ายๆ ต้องพิจารณาเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

นอกจากโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว กระดูกพรุนก็เป็นอีกภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อย เนื่องจากคนไทยรับประทานแคลเซียมและวิตามินดีน้อย และไม่ค่อยออกกำลังกาย เราสามารถป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยรับประทานแคลเซียมซึ่งมีมากในนม ส่วนวิตามินที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมพบได้ในไขมัน และหมั่นออกกำลังกาย เพียงเดินต่อเนื่องทุกวันๆ ละครึ่งชั่วโมง จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างกระดูกไว้เป็นต้นทุนสำหรับวันข้างหน้าที่อายุมากขึ้น โดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ขาดเอสโทรเจน ซึ่งเอสโทรเจนเป็นเป็นตัวต้านไม่ให้เซลล์ทำลายกระดูกออกมาทำงาน”

ปิดท้ายกับนักแสดงหนุ่ม ซัน ประชากร ที่มาพูดคุยในหัวข้อ ล้วงลับเรื่องตับและลำไส้ ซึ่งเป็นปัญหาที่อาจพบได้กลุ่มคนที่นิยมดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารไม่ถูกต้อง ทำงานไม่เป็นเวลา โดยมี ผศ.พญ.พจมาน พิศาลประภา อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร และ นพ.สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร มาวิเคราะห์เจาะลึกปัญหานี้ว่า “ไขมันพอกตับและตับแข็ง รวมทั้งมะเร็งตับ เป็นโรคที่หลายคนเริ่มเป็นกังวล อย่างที่เราทราบกันว่าคนที่มีความเสี่ยง คือ คนที่ดื่มแอลกอฮอลล์ ยิ่งดื่มต่อเนื่องเป็น 10 ปี จะยิ่งเป็นตับแข็งได้ หลายคนถามว่าในเบียร์มีแคลเซียม และดื่มเหล้าก็ทำให้เลือดสูบฉีดได้ดี ถ้าเราดื่มในปริมาณที่พอเหมาะนั้นจะได้หรือไม่ ในฐานะหมอโรคตับ ไม่อยากได้ดื่มแม้แต่หยดเดียว แต่ในชีวิตจริงก็ยอมรับว่าบางคนต้องเข้าสังคม ถ้าจะดื่มเดือนละแก้วก็โอเค แต่ถ้าจะดื่มทุกวันจริงๆ ให้ได้แค่วันละหนึ่งดริ๊งค์ คือ ก้นแก้วไวน์ หรือเบียร์หนึ่งกระป๋องเท่านั้น ถ้าเกินกว่าเสี่ยงเป็นโรคตับแน่ นอกจากคนที่ดื่มแอลกอฮอลล์แล้ว คนที่น้ำหนักมากก็เสี่ยงไม่แพ้กัน จากสถิติคนอ้วนมากจะพบไขมันพอกตับร้อยละ 90 ถ้าเป็นเบาหวานพบร้อยละ 70 แต่ถ้าไม่เป็นโรคอะไรแค่ท้วมอย่างเดียว โอกาสเจอร้อยละ 50 แล้วถ้าคนอ้วนหรือท้วมดื่มแอลกอฮอลล์ด้วย ความเสี่ยงก็จะสูงขึ้น ภัยเงียบของไขมันพอกตับ คือ ตับเป็นอวัยวะที่อยู่ภายใน หากไม่ตรวจสุขภาพ กว่าจะเจออาจเป็นตับแข็งและมะเร็งตับไปเลย ดังนั้นการคัดกรองจะเป็นวิธีที่ป้องกันที่ดี ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือที่ทันสมัยอย่างไฟโบรสแกน สามารถบอกได้ว่าไขมันในตับมีเท่าไหร่ ตับเริ่มแข็งหรือยัง ถ้าตรวจพบเร็ว เพียงปรับพฤติกรรม ลดน้ำหนัก รับประทานอาหารที่ดี ไขมันในตับก็ลดลงเองได้

          นอกจากตับแล้ว ลำไส้ก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่อยู่ข้างใน ซึ่งปัจจุบันโรคลำไส้มีมากมาย ที่พบบ่อยในวัยทำงาน ได้แก่ โรคลำไส้แปรปรวน บางคนต้องเร่งรีบ เครียด รับประทานอาหารรสจัด ทำให้ปวดท้องและขับถ่ายผิดปกติได้ บางคนมีอาการถ่ายลำบาก ถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว ถ้ามีอาการแบบนี้ต้องปรับพฤติกรรมการกิน ปรับเรื่องความเครียด อาการก็จะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อายุเกิน 50 ปี หรือญาติสายตรงมีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็ไม่ควรละเลย อาจไม่ใช่ลำไส้แปรปรวนธรรมดา อาจเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะถ้ามีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า ซึ่งการเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดโดยการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารที่ทันสมัยจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่า”  

ฟังคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากโรงพยาบาลนครธนไปแล้ว คงจะทำให้หลายคนอุ่นใจขึ้นเพราะจะได้มีแนวทางง่ายๆ เพื่อนำไปดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี แต่คุณหมอก็ย้ำเตือนกันว่า ถ้าเมื่อใดที่ไม่แน่ใจว่าวิธีที่ทำอยู่ถูกต้องหรือเปล่า หรือทำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น การไปพบแพทย์เฉพาะทางที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญโดยตรงน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า