ดีป้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 4/64 ปรับตัวดีขึ้นชี้ผู้ประกอบการดิจิทัลต้องการให้รัฐผลักดันให้เกิด National Platform พร้อมเร่งปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ให้เอื้อต่อการลงทุนโดยชัดเจน
ข้อมูลผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 4/2564
https://www.depa.or.th/th/article-view/depa-sentiment-index-q4-2564
8 กุมภาพันธ์ 2565, กรุงเทพมหานคร – ดีป้า เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 4 ปี 2564 เพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนโยบายกระตุ้นการบริโภค การท่องเที่ยวของภาครัฐ และแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชี้ผู้ประกอบการดิจิทัลต้องการให้ภาครัฐผลักดันให้เกิด National Platform พร้อมเร่งปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ให้เอื้อต่อการลงทุนโดยชัดเจน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า แถลงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย (Digital Sentiment Index) ไตรมาส 4 ประจำปี 2564 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 52.5 เพิ่มขึ้นจาก 45 ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ ด้านคำสั่งซื้อ/โครงการที่ได้ทำ/ทำงานร่วมกับพันธมิตร/คู่ค้า ด้านการจ้างงาน และด้านการลงทุนเพื่อประกอบการ
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ระดับ 52.5 เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั้งนโยบายกระตุ้นการบริโภค การท่องเที่ยวของภาครัฐ และแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อกำลังซื้อผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคลและลูกค้าองค์กร อีกทั้งเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า อุตสาหกรรมย่อยที่มีดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 49.2 และ กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 48.3 ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว ขณะเดียวกัน ประชาชนเริ่มคุ้นเคยและเคยชินกับการใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นสื่อกลางอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคข่าวสารต่าง ๆ การซื้อขายสินค้า และชำระเงินออนไลน์ การสั่งอาหาร การเรียนการสอนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการผลิตสื่อ จำหน่ายและให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล มีดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 58.5 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 55.1 และ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 53.8
“ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐผลักดันให้เกิด National Platform และกระตุ้นการบริโภคผลิตภัณฑ์ดิจิทัลภายในประเทศทดแทนการส่งออก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งเป็นหน่วยงานต้นแบบในการปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กร (Transform) สู่สังคมดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมความรู้และทักษะดิจิทัลขั้นสูง (Professional, Expert) พร้อมดำเนินการเปิดเผยฐานข้อมูลและแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจต่อไปได้ พร้อมกันนี้ ภาครัฐควรเร่งปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบให้มีความชัดเจนโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อมาตรการช่วยเหลือด้านการลงทุนแก่ผู้ประกอบการ” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 4 ประจำปี 2564 ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ของ ดีป้า ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ www.depa.or.th/th/depakm/digital-indicators, LINEOA: depaThailand และเพจเฟซบุ๊ก depa Thailand
#depa #DigitalSentimentIndex2021
#HardwareandSmartDevice #Software #DigitalService #DigitalContent #Telecommunication
#DigitalThailand