องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

วันที่ (14 มีนาคม 2562) พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ดร.ชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายยงยุทธ จุลานนท์ ผู้อำนวยการโครงกาชลประทานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ พร้อมรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกิดขึ้นเนื่องจากสภาพภูมิประเทศของอำเภอบางสะพาน ที่มีความลาดชันบริเวณพื้นที่ต้นน้ำและเป็นที่ราบสลับที่ดอนบริเวณพื้นที่ตอนล่าง เมื่อเกิดภาวะฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวันในช่วงฤดูฝน น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ตอนล่างก่อนไหลออกสู่ทะเล และในระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา สภาวะน้ำท่วมเริ่มรุนแรงขึ้นด้วยสาเหตุปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น คลองธรรมชาติแคบ ตื้นเขิน มีการขยายของตัวเมือง เส้นทางการคมนาคม การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตลอดจนสิ่งก่อสร้างรุกล้ำทางน้ำ ทำให้เป็นอุปสรรคและกีดขวางการไหลเวียนของน้ำ น้ำไหลระบายไม่ทัน เอ่อล้นตลิ่งไหลท่วมพื้นที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเมืองบางสะพาน สร้างความเดือดร้อนและความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอบางสะพานเป็นประจำทุกปี ในปี 2547 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน ศึกษาพิจารณาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

ด้านนายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมชลประทาน ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยดำเนินการพัฒนาในภาพรวมทั้งระบบลุ่มน้ำ ได้แก่ การปรับปรุงขุดลอกและขุดขยายคลองบางสะพาน พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารควบคุมบังคับน้ำและอาคารประกอบต่างๆ เพื่อระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว และไม่ล้นตลิ่งเข้าทำความเสียหายแก่พื้นที่ รวมถึงการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ในบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำ โดยกำหนดแผนงานการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบ้านไทรทอง (ความจุ 13.29 ล้านลูกบาศก์เมตร) และอ่างเก็บน้ำบ้านคลองลอยตอนล่าง (ความจุ 17.46 ล้านลูกบาศก์เมตร) ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเดิมในพื้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบ้านโป่งสามสิบ อ่างเก็บน้ำบ้านคลองลอย และอ่างเก็บน้ำวังน้ำเขียว รวมถึงฝายทดน้ำ 1 แห่ง คือ ฝายทดน้ำห้วยลึก รวมทั้งขุดขยายคลองระบายน้ำเดิม 4 สาย ได้แก่ คลองบางสะพาน คลองแม่รำพึง คลองปัตตามัง และคลองเขาม้าร้อง ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 9 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำในคลองบางสะพาน 3 แห่ง ประตูน้ำในคลองปัตตามัง 1 แห่ง ประตูระบายน้ำในคลองเขาม้าร้อง 2 แห่ง และขุดคลองผันน้ำใหม่ 3 สาย ได้แก่ คลองผันน้ำคลองบางสะพาน คลองผันน้ำคลองแม่รำพึง – อ่าวบ่อทองหลาง และคลองผันน้ำคลองเขาม้าร้อง-อ่าวบางสะพาน ปัจจุบันได้ศึกษาและสำรวจออกแบบโครงการฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จก็สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ตัวอำเภอ ให้สามารถลดปัญหาน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่ง หรือป้องกันน้ำท่วมจากที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2560 ได้ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับราษฎรกว่า 17,000 ครัวเรือน จำนวน 60,000 คน โดยเฉพาะบริเวณโรงพยาบาลบางสะพาน นอกจากนี้ ยังช่วยเก็บกักน้ำไว้ในลำคลองให้ราษฎรใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคในฤดูแล้งได้อีกด้วย