วันที่ (14 มีนาคม 2562) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาตรวจเยี่ยมกิจการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และรับฟังความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาที่สำคัญ โดยมีนายสมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานกรรมการ กทท. กรรมการ กทท. เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท. และผู้บริหาร กทท. ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารที่ทำการ กทท. และในโอกาสเดียวกันนี้ได้ตรวจเยี่ยม
การปฏิบัติงานภายในเขตรั้วศุลกากร กทท. ด้วย ในการนี้ ผู้อำนวยการ กทท. ได้บรรยายสรุปผลการดำเนินการตั้งแต่ปี 2559-2562 (คาดการณ์ทั้งปี) ทั้งปริมาณเรือเทียบท่า ตู้สินค้า และปริมาณสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งรายงานผลการดำเนินโครงการพัฒนาที่สำคัญ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 การดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน ปี 2556 ท่าเทียบเรือ B2 B3 B4, การพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพฝั่งตะวันตก (Smart Port) การปรับปรุงและพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G, แผนการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่ (บริหารสินทรัพย์), โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนโดยรอบ กทท. (Smart Community),โครงการเชื่อมโยง Data Logistic Chain ด้วยระบบ Port Community System, แผนการพัฒนาท่าเรือระนอง และโครงการพัฒนาการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าในกรอบความร่วมมือในกลุ่มประเทศ BIMSTEC
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้กำลังใจฝ่ายบริหารและแนวคิดในการพัฒนา 3 โครงการใหญ่ให้กับ กทท. ซึ่งเริ่มที่การบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าสูงสุด โดยศึกษาแนวทางการพัฒนาจากท่าเรือปูซาน ซึ่งเป็นทั้งท่าเทียบเรือ แหล่งท่องเที่ยว และคอมมูนิตี้คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ รวมทั้งการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง โดยให้ฝ่ายบริหารหาแนวทางพัฒนาโครงการต่างๆ และวางเป้าหมายให้เป็นระบบ ครบวงจร หากทำได้จะก่อให้เกิดประโยชน์มูลค่ามหาศาลกับองค์กรและประเทศชาติ ส่วนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ควรมีแนวร่วม(Consortium) กลุ่มทุนด้านโลจิสติส์จากต่างประเทศมาร่วมด้วย เนื่องจากเป็นโครงการทุกประเทศยอมรับและผลักดันให้เกิด และเมื่อได้บริษัทที่ผ่านการประมูลรอบสองในเดือนเมษายนนี้แล้ว ขอให้การดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความราบรื่นและทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใส
สำหรับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนโดยรอบ กทท. (Smart Community) ได้เร่งให้เริ่มก่อสร้างภายในปี 2563 โดยต้องมีเป้าหมายให้ชาวชุมชนอยู่สบาย สามารถใช้ชีวิตและประกอบอาชีพได้ตามปกติ อาจจะไม่ต้องหรูหรามาก แต่อยู่แล้วสบายใจ คิดว่าชาวชุมชนทุกคนน่าจะเห็นด้วยและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ส่วนแผนการพัฒนาท่าเรือระนอง (ทรน.) อยากให้เป็นโครงการที่เร่งด่วน เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางเรือจากจีน ในเบื้องต้นให้พัฒนาเป็นสองระยะ โดยระยะแรกพัฒนา ทรน. ให้ทันสมัยเชื่อมโยงรถไฟรางคู่ที่ชุมพร ระยะที่สอง ให้พิจารณาบริเวณทะเลน้ำลึกทางใต้ ทรน. ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้พัฒนาบุคลากรควบคู่ไปกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยกล่าวว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าระบบทุกอย่างจะขับเคลื่อนด้วย AI จึงแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาระบบต่างๆของ กทท. ให้ทัดเทียมท่าเรือชั้นนำระดับโลก
*******************************