กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพกระท่อม โดยการวิเคราะห์ทางเคมีและให้บริการทดสอบประสิทธิภาพ การประเมินความปลอดภัยของวัตถุดิบ สารสกัดกระท่อม เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งภายในและต่างประเทศ
ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. มีความเชี่ยวชาญและให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางเคมีของกระท่อม ให้บริการทดสอบประสิทธิภาพและการประเมินความปลอดภัยด้วยมาตรฐานห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO / IEC 17025 และ OECD – GLP โดยให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ ได้แก่ การตรวจเอกลักษณ์โดย TLC ปริมาณสารสำคัญ การทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนัก ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู และการทดสอบปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์
นอกจากนี้ยังเชี่ยวชาญและให้บริการทดสอบประสิทธิภาพ การประเมินความปลอดภัยของกระท่อม เพื่อยืนยันผลและสร้างความมั่นใจในการนำไปใช้ ได้แก่
1.การทดสอบประสิทธิภาพ เช่น ฤทธิ์ต้านการอักเสบ แก้ปวด ชาเฉพาะที่ ลดระดับน้ำตาลในเลือด
2.การประเมินความปลอดภัย ได้แก่ การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันทางปาก ( Acute oral toxicity test, TG 423) เป็นต้น
“กระท่อม” เป็นไม้ยืนต้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna Speciosa Korth มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยและมาเลเซีย เดิมเป็น “ยาเสพติดให้โทษ” ภายใต้ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษมานานถึง 41 ปี ได้รับการปลดออกจากยาเสพติดเป็นพืชที่ประชาชนปลูกเพื่อการบริโภคและขายได้ทั่วไป เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 คนไทยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา รักษาอาการติดเชื้อในลำไส้ แก้ท้องเสีย ท้องร่วง บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดไข้ บรรเทาอาการไอ ทำให้นอนหลับ ทางภาคใต้ใช้ใบรักษาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สารสำคัญที่พบคือ ไมทราไจนีน (mitragynine) ซึ่งเป็นสารที่พบเฉพาะในพืชกระท่อมเท่านั้น มีฤทธิ์ระงับปวดได้คล้ายกับการใช้มอร์ฟีน แต่มีข้อดีกว่ามอร์ฟีนคือ ไม่กดระบบทางเดินหายใจ ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน การบริโภคกระท่อมในปริมาณต่ำๆ จะออกฤทธิ์กระตุ้น ลดอาการเมื่อยล้า ทำงานได้นานขึ้น หากใช้ในปริมาณสูงจะมีฤทธิ์กล่อมประสาทและเสพติด และหากรับประทานเป็นเวลานาน อาจทำให้ท้องผูก นอนไม่หลับ คลื่นไส้อาเจียน ผิวหนังคล้ำลง บางรายอาจพบอาการแขนกระตุก อารมณ์ซึมเศร้า กระวนกระวาย ความดันสูง มีอาการทางจิต หวาดระแวง เห็นภาพหลอน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมการบริการวิเคราะห์ทดสอบคุณสมบัติทางเคมี ได้ที่ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา วว. โทร. 0 2323 1672-80 ต่อ 221 , 0 2 577 9108 อีเมล mtc@tistr.or.th และ tanwarat@tistr.or.th
สอบถามงานบริการทดสอบประสิทธิภาพและการประเมินความปลอดภัย ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. โทร. 0 2577 9110, 0 2577 9106 อีเมล tox_service@tistr.or.th